วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559

1. พระเจ้าพิมพิสาร

1. พระเจ้าพิมพิสาร
พระราชประวัติ
  • พระเจ้าพิมพิสาร เป็นพระราชาแห่งแคว้นมคธ ซึ่งเป็นแคว้นที่ใหญ่และมีอำนาจที่สุดแคว้นหนึ่งในสมัยพุทธกาล มีเมืองหลวงชื่อ ราชคฤห์ พระองค์ได้ครองราชย์สมบัติอยู่เป็นเวลา 52 ปี
  • พระเจ้าพิมพิสารมีอัครมเหสีพระนามว่า เวเทหิ ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ามหาโกศล แห่งแคว้นโกศล มีพระราชโอรสซึ่งประสูติจากพระนางเวเทหิ 1 พระองค์ มีนามว่า อชาตศัตรู
  • พระเจ้าพิมพิสาร ทรงมีความสัมพันธ์กับพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่ต้น กล่าวกันว่าพระองค์เป็นพระสหายกับพระพุทธเจ้าสมัยที่ยังทรงเป็นพระกุมาร ด้วยพระเจ้าสุทโธทนะทรงมีความสนิทสนมกับพระบิดาของพระเจ้าพิมพิสาร
ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าพิมพิสารกับพระพุทธเจ้า
  • เพื่อความสะดวกในการกำหนด อาจแบ่งระยะของความสัมพันธ์ออกเป็น 2 ตอน คือ
    • 1.  ความสัมพันธ์ก่อนกาลตรัสรู้ พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงพระพุทธเจ้าครั้งแรกในสมัยที่พระมหาบุรุษเสด็จออกบรรพชา เสด็จมาพักที่เชิงเขาปัณธวะ แคว้นมคธ ในสมัยนั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงเป็นมหาอุปราชยังมิได้ราชาภิเษก พระองค์ทรงพอพระทัยบุคลิกลักษณะของพระมหาบุรุษมาก จึงทูลเชิญให้ครองราชย์สมบัติครึ่งหนึ่งแคว้นมคธ แต่พระมหาบุรุษทรงปฏิเสธและตรัสบอกถึงความตั้งพระทัยของพระองค์ที่จะออกผนวชเพื่อแสวงหาอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระเจ้าพิมพิสารทรงแสดงความยินดีด้วย และทูลขอต่อพระมหาบุรุษว่า เมื่อได้ตรัสรู้แล้วขอให้เสด็จกลับมาโปรดพระองค์ด้วย
    • 2.  ความสัมพันธ์หลังกาลตรัสรู้ พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงสร้างวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาและกรุงราชคฤห์เป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาเป็นแห่งแรก กล่าวคือ เมือพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ทรงเริ่มประกาศพระศาสนาและได้สาวกมากพอสมควรแล้ว เช่น ชฏิล 3 พี่น้องพร้อมทั้งบริวาร เป็นต้น พระองค์ได้เสด็จไปยังกรุงราชคฤห์พร้อมด้วยภิกษุชฏิลเหล่านั้น เพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงสดับข่าวการเสด็จมาของพระพุทธเจ้า จึงพร้อมด้วยข้าราชการและประชาชนเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าครั้งนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสารพร้อมทั้งข้าราชการและประชาชนจำนวนมากได้บรรลุโสดาปัตติผล ประกาศของพระองค์เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา และได้ถวายพระราชอุทยานเวฬุวันให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ ดังนั้นวัดเวฬุวันจึงเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา
  • นอกจานี้ พระเจ้าพิมพิสารยังได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาด้วยประการต่าง ๆ เป็นอันมาก เช่น ได้พระราชทานหมอชีวกโกมาภัจจ์ ซึ่งเป็นแพทย์ประจำราชสำนักให้เป็นหมอประจำองค์พระพุทธเจ้และภิกษุสงฆ์ เป็นต้น
  • พระเจ้าพิมพิสารมีพระราชโอรสผู้หลงผิดพระองค์หนึ่งคือ พระเจ้าอชาตศัตรูซึ่งประสูติจากพระนางเวเทหิ และเป็นรัชทายาท ก่อนประสูติ ขณะทรงพระครรภ์ นางเวเทหิทรงมีอาการแพ้พระครรภ์ทรงกระหายอยากเสวยพระโลหิตจากพระพาหาข้างขวาของพระสวามี พระเจ้าพิมพิสารจึงกรีดเอาพระโลหิตของพระองค์ให้พระนางเวเทหิเสวย โหราจารย์ได้ทำนายว่า พระโอรสของพระองค์จะปิตุฆาต คือ ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสาร
  • พระเจ้าพิมพิสารทรงรักใคร่พระราชโอรสมาก แม้จะได้ทรงสดับคำทำนายที่ร้ายแรงเช่นนั้น และแม้พระเวเทหิจะได้ทรงพยายามทำลายพระครรภ์เพื่อป้องกันภัยแก่พระองค์ แต่เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรบทราบ ก็ทรงห้ามเสียและโปรดให้ดูแลรักษาพระครรภ์เป็นอย่างดี เมื่อพระราชโอรสประสูติแล้ว ได้ทรงขนานพระนามว่า อชาตศัตรู (ผู้เกิดมาไม่เป็นศัตรู) เมื่ออชาตศัตรูเจริญวัยขึ้น ได้เลื่อมใสในพระเทวทัตจึงถูกพระเทวทัตชักชวนให้ทำปิตุฆาต โดยพระเจ้าอชาตศัตรูมีพระบัญชาให้ขังพระราชบิดาของพระองค์ ห้ามมิให้คนอื่นเข้าพบนอกจากพระนางเวเทหิและต่อมาทรงห้ามเด็ดขาด แม้แต่พระเวเทหิเองก็มิได้ทรบเข้าพบ ทั้งนี้เพื่อปิดกั้นหนทางมิให้พระนางเวเทหิมีโอกาสซุกซ่อนอาหารเข้าไปถวายพระสวามี และจะได้เร่งให้พระเจ้าพิมพิสารสวรรคตไปตามแผนการ แต่พระเจ้าพิมพิสารเป็นอริยบุคคล สามารถเสวยสุขมีความอิ่มพระทัยได้ด้วยการเสด็จจงกรม จึงทรงพระชนม์อยู่ได้ต่อไปได้อีก ในขั้นสุดท้ายพระเจ้าอชาตศัตรูจึงให้กรีดพระบาทของพระเจ้าพิมพิสารเสียทั้งสองข้าง เพื่อไม่ให้เสด็จจงกรมได้ต่อไป เป็นเหตุให้พระองค์สวรรคต
  • ในขณะเดียวกับที่พระเจ้าพิมพิสารสวรรคตนั่นเอง พระโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรูก็ประสูติ พระเจ้าอชาตศัตรูทรงมีความรักใคร่เสน่หาในพระโอรสมาก จึบทรงสำนึกขึ้นได้ว่าพระเจ้าพิมพิสารคงจะทรงรักใครพระองค์เช่นนั้นเหมือนกัน ครั้นสำนึกได้ก็ตรัสรับสั่งให้ปล่อยพระราชบิดา แต่ปรากฏว่าพระราชบิดาได้สวรรคตเสียก่อนแล้ว ทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูเสียพระทัยเป็นอันมาก และได้จัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระราชบิดาอย่างสมพระเกียรติ
คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง
  • 1.  ทรงมีน้ำพระทัยกว้างขวางเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม ดังจะเห็นได้ในกรณีที่ทรงเชิญให้พระมหาบุรุษรับราชสมบัติในแคว้นมคธ โดยมิได้ทรงหวงแหนหรือตระหนี่ และทรงยินดีมอบราชสมบัติให้แก่พระราชโอรส ในเมื่อพระราชโอรสปรารถนาโดยมิให้ต้องมีเหตุร้ายเนื่องจากการแย่งราชสมบัติ
  • 2.  ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยพระราชศรัทธาอย่างแท้จริง ทรงถวายวัดแห่งแรก ทรงนำข้าราชการและประชาชนเข้าถึงพระรัตนตรัย ทรงช่วยให้กรงราชคฤห์ที่พระองค์ทรงปกครอง ได้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาเป็นแห่งแรก กล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาแพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง เพราะอาศัยพระบรมราชูปภัมภ์ของพระองค์เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง
  • 3.  ทรงเอาพระทัยใส่ในความเสื่อมความเจริญของพระศาสนา ทรงทำหน้าที่ของอุบาสกที่ดี หาทางส่งเสริมสนับสนุนพระพุทธศาสนาให้มั่นคงและเจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ เช่นครั้งหนึ่งพระองค์ทรงพระราชดำริถึงการที่พวกปริพาชกอัญญาเดียรถีย์ ได้ประชุมกันแสดงธรรมให้วัน 14 ค่ำ 8 ค่ำ แห่งปักษ์ มีประชาชนสนใจและเลื่อมใสไปฟังธรรมมาก ทรงเห็นว่าเป็นวิธีการที่ดีอย่างหนึ่ง ทรงมีพระประสงค์จะให้มีการปฏิบัติอย่างนั้นบ้างในพระพุทธศาสนา จึงทรงนำความขึ้นกราบทูลให้ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ประชุมกันในวันเช่นนั้นบ้าง เป็นเหตุให้เกิด “วันธรรมสวนะ” แต่บัดนั้นมาก
  • 4.  ทรงเคารพในพระสงฆ์มาก จะเห็นได้จากครั้งหนึ่งพระองค์มีพระราชประสงค์จะทรงสรงสนานน้ำร้อนในบ่อน้ำร้อน “ตโปทา” ขณะเสด็จไปถึง ทอดพระเนตรเห็นพระภิกษุกำลังสรงน้ำอยู่มากมาย ทรงให้พระภิกษุสรงน้ำเสร็จก่อนพระองค์จึงทรงลงสรง บังเอิญค่ำมืดประตูนครปิดพอดี ไม่สามารถเสด็จเข้าเมืองได้ จึงเสด็จไปประทับค้างคืนที่พระเวฬุวัน พระพุทธเจ้าทรงปรารภเหตุนี้ จึงทรงบัญญัติให้พระสาวกสรงน้ำในบ่อน้ำร้อนตโปทา 15 วันต่อครั้ง
วิทย์  วิศทเวทย์ และ เสถียรพงษ์ วรรปก. หนังสือสังคมศึกษา รายวิชา ส 048 พระพุทธศาสนา ชั้นมัธยมศศึกษาปีที่ 4 (ม.4) พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพมหานคร : อักษรเจริญทัศน์ ,  2541.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น