วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2558

บทที่ ๑๕ ปรมัตถธรรม

บทที่ ๑๕ ปรมัตถธรรม

๑. พระพุทธเจ้าสอนอะไร
  • คำสอนของพระพุทธเจ้าก็สรุปได้ ๒ ระดับคือ 
    • ๑. ระดับศีลธรรม ซึ่งสอนให้ละการทำชั่วแล้วสอนให้ทำแต่ความดี 
    • ๒. ระดับปรมัตถธรรม (ลึกซึ้งสูงสุด) ซึ่งสอนให้ทำจิตให้บริสุทธิ์
  • ศีลธรรมนั้นเป็นคำสอนที่จะช่วยให้ชีวิตมีความปกติสุข ไม่เดือดร้อน แต่ก็ยังมีความทุกข์ที่ลึกซึ้งอยู่อีกมาก เช่นความทุกข์จากความพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งที่รัก, ความทุกข์จากความแก่ ,และความตาย เป็นต้น ที่คำสอนระดับศีลธรรมก็ยังกำจัดไม่ได้ จึงต้องมีคำสอนระดับสูง(ปรมัตถธรรม)เพื่อมากำจัดความทุกข์ในส่วนนี้.

๒. อริยสัจ ๔ หลักในการดับทุกข์ 
  • ธรรมะในระดับปรมัตถธรรมนี้ก็สรุปอยู่ที่ อริยสัจ ๔ ที่หมายถึง ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ อันได้แก่ 
    • ๑. ทุกข์ คือความทุกข์ 
    • ๒. สมุทัย คือสาเหตุของความทุกข์ 
    • ๓. นิโรธ คือความดับลงของทุกข์(นิพพาน) 
    • ๔. มรรค คือวิธีปฏิบัติเพื่อดับทุกข์
  • อริยสัจ ๔ นี้สรุปได้ ๒ ประการ คือ มีทุกข์ กับ ไม่มีทุกข์ โดยทุกข์ก็มาจากเหตุ และเมื่อไม่มีเหตุทุกข์ก็ไม่มี

๓. หลักการศึกษาอริยสัจ ๔ 
  • ในการศึกษาอริยสัจ ๔ นี้จะต้องมีการศึกษาและปฏิบัติตามลำดับคือ 
    • ๑. กำหนดรู้จักตัวความทุกข์ให้ถูกต้องก่อน 
    • ๒. กำหนดรู้และกำจัดสาเหตุของทุกข์นี้ให้ได้ 
    • ๓. เห็นแจ้งในความดับลงของทุกข์นี้ด้วยจิตจริงๆ 
    • ๔. พยายามปฏิบัติเพื่อให้ทุกข์นี้ดับลงอย่างถาวร

๔. ความทุกข์เป็นอย่างไร
  • สิ่งที่มนุษย์ทุกคนเกลียดกลัวอย่างยิ่งก็คือ ความทุกข์ ซึ่งความทุกข์ทั้งหลายนั้นก็สรุปอยู่ใน 
    • ความรู้สึกว่ามีตนเองแก่ 
    • ความรู้สึกว่ามีตนเองจะตาย 
    • ความรู้สึกว่ามีตนเองพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก 
    • ความรู้สึกว่ามีตนเองประสบกับบุคลหรือสิ่งอันไม่เป็นที่รักอยู่ 
    • ความรู้สึกว่ามีตนเองที่อยากได้สิ่งใดไว้แล้วไม่สมตามที่อยาก
  • สรุปได้ว่าความทุกข์นั้นอยู่ที่ความรู้สึกว่ามีตัวเราที่กำลังประสบกับความรู้สึกที่ไม่อยากจะประสบอยู่ ซึ่งเมื่อเราประสบเข้าก็จะทำให้เกิดความทุกข์ในลักษณะต่างๆขึ้นมา มากบ้างน้อยบ้าง 
  • จนทำให้เกิดตั้งแต่ความรู้สึกไม่สบายใจ ขึ้นไปเป็นความทุกข์ใจ ทรมานใจ ที่แสดงออกมาเป็นความเศร้าโศก เสียใจ แห้งเหี่ยวใจ จนร้องไห้คร่ำครวญ เป็นต้นนั่นเอง.

๕. สาเหตุของทุกข์คืออะไร
  • พุทธศาสนาจะมีหลักอยู่ว่า “ทุกสิ่งย่อมเกิดมาจากเหตุ” ดังนั้นความทุกข์ก็ต้องมีเหตุมาทำให้เกิด ซึ่งเมื่อสรุปแล้วสาเหตุของความทุกข์ทั้งหลายนั้นก็คือ “ความรู้สึกว่ามีตัวเรา” อย่างเช่น คนที่มีร่างกายแก่ ถ้าเกิดความรู้สึกว่ามีตนเองแก่ จิตใจเขาก็จะเป็นทุกข์ หรือคนที่กำลังจะตาย ถ้าเกิดความรู้สึกว่ามีตนเองกำลังจะตาย จิตใจเขาก็จะเป็นทุกข์ หรือเมื่อเกิดความรู้สึกว่ามีตนเองที่กำลังพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รักอยู่ จิตใจ ก็จะเป็นทุกข์ เป็นต้น.

๖. ความดับทุกข์เป็นอย่างไร
  • เมื่อความทุกข์มาจากเหตุ ถ้าไม่มีเหตุความทุกข์ก็จะไม่มี ดังนั้น ถ้าไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวเราเสียอย่างเดียวเท่านั้น ความทุกข์ทั้งหลายก็จะไม่เกิดขึ้นแก่จิตใจที่สมมติเรียกว่าเรานี้
  • เมื่อจิตเกิดทุกข์ ก็จะมีความรู้สึกทรมาน ไม่น่ายินดี แต่ถ้าจิตไม่มีทุกข์ จิตก็จะบริสุทธิ์ และเป็นปรกติ คือเบาสบาย สงบ เยือกเย็น ปลอดโปร่ง แจ่มใส ซึ่งนี่คืออาการที่เรียกว่า “นิพพาน” ที่แปลว่า สงบเย็น
  • นิพพานนี้ก็มีทั้งอย่างชั่วคราว(ไม่ถาวร) สำหรับผู้คนทั่วๆไปที่สามารถปฏิบัติได้เป็นครั้งคราว และอย่างถาวรสำหรับพระอริยบุคคลขั้นสูง ซึ่งนิพพานชั่วคราวนี้เองที่เราจะต้องพยายามปฏิบัติให้เห็นแจ้งให้ได้ เพื่อจะได้ค้นพบความดับลงของทุกข์ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเชื่อใคร.

๗. วิธีปฏิบัติเพื่อดับทุกข์เป็นอย่างไร 
  • วิธีปฏิบัติเพื่อให้ความทุกข์นี้ดับลงนั้นเรียกว่า มรรค ที่แปลว่า ทาง หรือ อริยมรรค ที่แปลว่า หนทางอันประเสริฐ ซึ่งวิธีปฏิบัตินี้มีองค์ประกอบอยู่ถึง ๘ องค์ประกอบ แต่สรุปลงเหลือ ๓ ส่วนคือ 
    • ๑. ศีล คือ การมีจิตที่เป็นปรกติ 
    • ๒. สมาธิ คือการมีจิตที่ตั้งมั่น 
    • ๓. ปัญญา คือมีความรอบรู้ในเรื่อง “ไม่มีตัวเรา”
  • ในการปฏิบัติจริงนั้นเราจะต้องมีทั้ง ศีล สมาธิ และปัญญามาทำหน้าที่พร้อมกันจึงจะทำให้ความทุกข์ดับลงได้ ซึ่งก่อนอื่นเราก็ต้องตั้งใจรักษาศีลเอาไว้ก่อน แล้วก็ต้องมีการฝึกฝนสมาธิเอาไว้ด้วย และที่สำคัญเราจะต้องมีความรอบรู้หัวใจของอริยสัจ ๔ นั่นก็คือเรื่องที่ว่า “ความจริงมันไม่มีตัวเรา” (พุทธศาสนาเรียกว่า วิชชา).

๘. ศีล คือ ความปกติ 
  • ศีล แปลว่า ปรกติ คือหมายถึงการมีจิตที่เป็นปรกติ ซึ่งการที่เราจะมีจิตปรกติได้นั้นเราจะต้องมีกาย และวาจาที่เรียบร้อย ซึ่งศีลของมรรคนี้ก็ได้แก่ 
    • ๑. การไม่ทำร้ายสิ่งที่มีชีวิต 
    • ๒. การไม่เบียดเบียนทรัพย์ของผู้อื่น 
    • ๓. การไม่ประพฤติผิดในเรื่องทางเพศ 
    • ๔. การไม่พูดโกหก 
    • ๕. การไม่พูดคำหยาบ 
    • ๖. การไม่พูดคำส่อเสียดยุยง 
    • ๗. การไม่พูดเรื่องเพ้อเจ้อไร้สาระ

๙. สมาธิ คือ ความตั้งใจมั่น 
  • สมาธิ แปลว่า ตั้งมั่นอยู่เสมอ คือมีจิตที่ตั้งมั่นอยู่เสมอ ซึ่งจิตที่มีสมาธิจะมีลักษณะ ๓ ประการคือ 
    • ๑. บริสุทธิ์ คือไม่มีกิเลส ไม่มีนิวรณ์ 
    • ๒. ตั้งมั่น คือ มั่นคง เข้มแข็ง 
    • ๓. เหมาะแก่การงาน คือมีความอ่อนโยน สุขุม รอบครอบ

๑๐. สมาธิ ๒ ประเภท 
  • สมาธินี้ก็มีอยู่ ๒ ประเภท อันได้แก่ 
    • ๑. สมาธิใช้งาน หรือสมาธิตามธรรมชาติที่ใช้กันอยู่เสมอ 
    • ๒. สมาธิขั้นสูง(ฌาน) คือความตั้งใจที่สูงมาก
  • สมาธิใช้งานนี้ก็คือความตั้งใจในการเรียน การพูด การคิด และการทำงานทั้งหลาย ซึ่งเราก็พอจะมีกันอยู่บ้างแล้วแต่ว่าไม่มาก ส่วนสมาธิขั้นสูงนี้จะเกิดจากการฝึกฝนและถ้าเกิดขึ้นจะไม่มีแม้การคิดนึกใดๆอยู่เลย ซึ่งสมาธิขั้นสูงนี้จะเป็นพื้นฐานให้แก่สมาธิใช้งานสมบูรณ์ได้

๑๑. นิวรณ์ ๕ 
  • สิ่งที่เป็นศัตรูของสมาธิก็คือกิเลสอ่อนๆ ที่เรียกว่า นิวรณ์ ที่หมายถึง สิ่งปิดกั้นจิต ซึ่งนิวรณ์นี้ก็มีอยู่ ถึง ๕ อาการ อันได้แก่ 
    • ๑. ความรู้สึกพึงพอในเรื่องกามารมณ์ 
    • ๒. ความรู้สึกอึดอัดขัดเคืองใจหรือ อาฆาตพยาบาท 
    • ๓. ความคิดฟุ้งซ่านรำคาญใจ 
    • ๔. ความรู้สึกหดหู่ เซื่องซึม มึนชา 
    • ๕. ความลังเลสงสัยในสิ่งที่เอาเป็นที่พึ่ง
  • นิวรณ์แต่ละตัวนี้เองที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเกิดขึ้นมาครอบงำจิตของเราอยู่เกือบจะทั้งวัน แล้วก็ทำให้จิตของเรา เศร้าหมอง ไม่สงบ ไม่ปลอดโปร่งแจ่มใส และไม่มีแม้สมาธิใช้งาน ซึ่งนี่ก็คือความทุกข์ชนิดอ่อนๆที่เกิดขึ้นแก่จิตของเราอยู่เกือบจะทั้งวันจนชินชาโดยเราไม่รู้จักหรือไม่สนใจ จึงทำให้จิตของเรา ไม่นิพพาน.

๑๒. การฝึกอานาปานสติ 
  • อานาปานสติ แปลว่า การมีสติกำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ทุกลมหายใจเข้า-ออก ซึ่งอานาปานสตินี้เป็นการฝึกสมาธิขั้นสูง(ฌาน)ที่ดีวิธีหนึ่ง ซึ่งหลักการฝึกโดยสรุปก็มีดังนี้ 
    • ๑. นั่งขัดสมาธิ ตัวตรงจะหลับตาหรือลืมตาก็ได้ 
    • ๒. กำหนดอยู่ที่ลมหายใจที่กระทบอยู่บริเวณจมูกตลอดเวลา 
    • ๓. พยายามบังคับลมหายใจให้เบาและยาวอยู่เสมอ 
    • ๔. พยายามระวังตัวอยู่เสมออย่าให้นิวรณ์หรือความคิดใดๆเกิดขึ้นมา
  • ในการฝึกเราจะต้องอดทนหมั่นฝึกอยู่เสมอๆ จนความคิดหรือนิวรณ์เบาบางลง แล้วจิตก็จะเริ่มสงบขึ้น เบาสบายขึ้น มีความสุขที่สงบขึ้น มีสติมากขึ้น ซึ่งนี่แสดงว่าเราเริ่มจะมีสมาธิขั้นสูงขึ้นมาบ้างแล้ว และถ้าสามารถฝึกฝนจนนิวรณ์และความคิดต่างๆระงับดับลงได้เป็นเวลานานๆ จนจิตสงบมากขึ้น มีความสุขที่สงบมากขึ้น และมีสติตลอดเวลา ก็แสดงว่าจิตบรรลุถึงสมาธิขั้นสูงที่เรียกว่า “ฌาน”ในขั้นต้นๆแล้ว ซึ่งก็ให้พยายามฝึกต่อไปอย่างสม่ำเสมอจนชำนาญ แล้วจิตก็จะเลื่อนไปสู่ฌานที่สูงๆขึ้นต่อไป.

๑๓. ปัญญาสูงสุดคือความรู้ว่าไม่มีตัวเรา 
  • คำว่า ปัญญา ในทางพุทธศาสนาจะหมายถึง ความรอบรู้ในเรื่องการดับทุกข์ ซึ่งปัญญาสูงสุดในพุทธศาสนาก็คือความรอบรู้เรื่อง อนัตตา ความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง(พุทธศาสนาเรียกว่า วิชชา)
  • เรื่องอนัตตานี้เป็นเรื่องลึกซึ้งมาก การที่จะเข้าใจได้ถูกต้องนั้นยาก ยิ่งเห็นแจ้งก็ยิ่งยาก เพราะจะต้องมีการเรียนรู้หลักพื้นฐานขึ้นไปเรื่อยๆ พร้อมกับมีการคิดพิจารณาด้วยเหตุผล จนเข้าใจถูกต้อง แล้วก็ต้องมีการทดลองปฏิบัติจนเห็นแจ้ง จึงจะเรียกว่ามีปัญญาได้อย่างแท้จริง ซึ่งเราจะได้เรียนรู้กันต่อไป.

๑๔. กฎอิทัปปัจจยตา 
  • กฎอิทัปปัจจยตา ก็คือกฎที่บอกให้รู้ว่าเมื่อมีเหตุจึงมีผล คือกฎนี้จะบังคับเอาไว้เลยว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจะต้องมีเหตุมาทำให้เกิด และไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆ ซึ่งสามารถแยกแยะได้ดังนี้ 
    • เมื่อมีเหตุ จึงมีผล
    • เมื่อไม่มีเหตุ ผลจึงไม่มี
    • เมื่อเหตุเกิดขึ้น ผลจึงเกิดขึ้น
    • เมื่อเหตุดับลง ผลจึงดับลง
  • เมื่อพิจารณาให้ละเอียดเราก็จะพบว่า เหตุจะทำให้เกิดผล และผลก็จะกลับมาเป็นเหตุให้เกิดผลใหม่ขึ้นมาได้อีก คือมันจะผลักดันกันไปเรื่อยๆ เป็นเหมือนสายโซ่ที่คล้องต่อกันไปเรื่อยๆ 
  • และเพียงเหตุเดียวก็สามารถทำให้เกิดหลายๆผลได้ รวมทั้งผลเดียวก็จะมาจากหลายๆเหตุได้อีก ซึ่งนี่คือการปรุงแต่งผลักดันกันให้เกิดสิ่งต่างๆ ทั้งวัตถุ ร่างกาย และจิตใจของเราขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์

๑๕. ธาตุ ๖ 
  • ธาตุ หมายถึง สิ่งที่เป็นพื้นฐานของสิ่งต่างๆ ซึ่งธาตุที่เป็นพื้นฐานที่สุดของทุกสิ่งนี้ก็มีอยู่ ๖ ธาตุ อันได้แก่ 
  • ๑. ธาตุดิน คือของแข็ง 
  • ๒. ธาตุน้ำ คือของเหลว 
  • ๓. ธาตุไฟ คือความร้อน 
  • ๔. ธาตุลม คือก๊าซต่างๆ 
  • ๕. ธาตุว่าง คือสุญญากาศ 
  • ๖. ธาตุวิญญาณ คือการรับรู้
  • วัตถุทั้งหลายจะเกิดมาจากการที่ธาตุดิน, ธาตุน้ำ, ธาตุไฟ, และธาตุลมปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นมา และอาศัยธาตุว่างตั้งอยู่ ซึ่งธาตุทั้ง ๔ นี้จัดเป็นวัตถุธาตุ (ธาตุที่มีรูปร่าง) ส่วนธาตุวิญญาณนั้นจัดเป็นนามธาตุ (ธาตุที่ไม่มีรูปร่าง).

๑๖. วิญญาณธาตุ 
  • วิญญาณธาตุหรือธาตุวิญญาณ นี้ก็คือกิริยาที่รู้ หรือรับรู้ ที่เกิดขึ้นที่อวัยวะตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย,และใจ (สมอง) ของเรานี่เอง เช่นเมื่อตาเห็นรูป การรับรู้รูปก็จะเกิดขึ้น ซึ่งการรับรู้รูปนั่นเอง ที่เรียกว่าเป็นวิญญาณที่เกิดขึ้นทางตา เป็นต้น 
  • คือวิญญาณนี้จะสามารถเกิดขึ้นได้ที่ตา, หู, จมูก, ลิ้น,กาย,และใจที่ยังดีอยู่ของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย (มนุษย์,สัตว์,พืช) และจะเป็นพื้นฐานให้เกิดจิตใจที่สามารถรู้สึกนึกคิดได้ของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายนั่นเอง
  • ธาตุวิญญาณนี้ไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง จะต้องอาศัยสิ่งอื่นๆช่วยกันปรุงแต่งขึ้นมา เมื่อสิ่งที่สร้างขึ้นมานั้นเสียหายไป ธาตุวิญญาณนี้ก็จะดับหายไป หรือไม่มี เหมือนกับแสงสว่างที่ต้องอาศัยเปลวไฟจากเทียนที่ติดไฟอยู่เกิดขึ้นมา.

๑๗ . ขันธ์ ๕ 
ขันธ์ แปลว่า พวก ,หมู่ ,ส่วน ซึ่งชีวิตของเรานี้จะประกอบด้วยขันธ์ ๕ ขันธ์ อันได้แก่ 
  • ๑. รูป คือส่วนที่เป็นรูปร่างหรือวัตถุ 
  • ๒. เวทนา คือส่วนที่เป็นความรู้สึกทั้งหลาย 
  • ๓. สัญญา คือส่วนที่เป็นความจำทั้งหลาย 
  • ๔. สังขาร คือส่วนที่เป็นความคิดทั้งหลาย 
  • ๕. วิญญาณ คือส่วนที่เป็นการรับรู้ทั้งหลาย
  • ส่วนที่เป็นรูปนี้ก็คืออวัยวะต่างๆที่ประกอบขึ้นมาเป็นร่างกายของเรา ส่วนที่เป็นเวทนา,สัญญา,สังขาร,และวิญญาณนี้ก็คือส่วนที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นจิตใจของเราที่รับรู้,แล้วก็รู้สึก,และจำได้,พร้อมทั้งคิดอยู่ในขณะที่ตื่นอยู่นี่เอง.

๑๘. อายตนะ ๖ 
อายตนะ แปลว่า สิ่งเชื่อมต่อ ซึ่งอายตนะนี้มีอยู่ ๒ ประเภท อันได้แก่ 
  • ๑. อายตนะภายใน คือ สิ่งเชื่อมต่อที่อยู่ภายในอันได้แก่ ๑. ตา ๒. หู ๓. จมูก ๔. ลิ้น ๕. กาย ๖. ใจ 
  • ๒. อายตนะภายนอก คือสิ่งเชื่อต่อที่อยู่ภายนอก อันได้แก่ ๑. รูป ๒. เสียง ๓. กลิ่น ๔. รส ๕.สิ่งที่สัมผัสด้วยกาย (เช่น เย็น ,ร้อน,อ่อน,แข็ง) ๖. สิ่งที่สัมผัสด้วยใจ ( ทุกอย่างที่ใจสัมผัสได้)
  • การศึกษาพุทธศาสนานั้นจะต้องเริ่มศึกษาจากอายตนะทั้ง ๒ นี้ เพราะทุกสิ่งจะเริ่มจากการที่อายตนะทั้ง ๒ นี้มาสัมผัสกันเข้า แล้วก็ทำให้เกิดสิ่งอื่นๆตามมา เช่น เมื่อตาสัมผัสกับรูป, แล้วเกิดความรู้สึก, เกิดความจำ, และเกิดการคิดให้รู้สึกว่ามีตัวเราขึ้นมา จนเกิดความทุกข์ตามมาอีก เป็นต้น.

๑๙. กฎไตรลักษณ์ 
กฎไตรลักษณ์ หมายถึง ลักษณะ ๓ ประการของสิ่งทั้งหลายที่ “เกิดขึ้นมา” ซึ่งกฎนี้ก็ได้แก่ 
  • ๑. อนิจจัง คือความไม่เที่ยงแท้ถาวร 
  • ๒. ทุกขัง คือความที่ต้องทน 
  • ๓. อนัตตา คือความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง 
  • สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาจากการที่ธาตุทั้งหลายสร้างหรือปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมานี้ จะต้องตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์นี้ทั้งสิ้น คือจะไม่เที่ยงแท้ถาวร มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและต้องแตกดับไปในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว และขณะที่ยังตั้งอยู่ก็ต้องทนต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะด้วย รวมทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นมานี้ก็ไม่มีตัวตนเป็นของตนเองอีกด้วย(คือต้องอาศัยสิ่งอื่นๆปรุงแต่งขึ้นมา).

๒๐. อัตตาคือความเห็นผิด 
  • คำว่า อัตตา หมายถึง ตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร ซึ่งเป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ที่สอนว่า จิต หรือวิญญาณของเรานี้เป็นตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร ไม่มีดับสลาย สามารถออกจากร่างกายที่ตายแล้วไปเกิดใหม่ยังร่างกายใหม่ๆได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด 
  • ซึ่งก็ทำให้เกิดความเชื่อเรื่องวิญญาณเวียนว่ายตายเกิด และเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า เทวดา นางฟ้า และเรื่องชาติก่อน ชาติหน้าเป็นต้นขึ้นมา อย่างที่ปลอมบนอยู่ในพุทธศาสนาของเราในปัจจุบัน.
  • ลักษณะของอัตตานี้จะตรงข้ามกับอนัตตาของพุทธศาสนา คือจะเที่ยงแท้ถาวร ไม่มีดับสลาย ไม่ต้องทนอยู่ และมีตัวตนเป็นของตนเองโดยไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นสร้างขึ้นมา ซึ่งความเชื่อนี้ได้ฝังแน่นอยู่ในจิตใต้สำนึกของทุกคน จึงทำให้ยอมรับความเชื่อเรื่องอัตตานี้กันอย่างฝังแน่นและเกือบจะทุกคน แล้วก็ส่งผลให้ความเชื่อเรื่องอนัตตาของพระพุทธเจ้าไม่ค่อยจะมีคนยอมรับ.

๒๑. ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา 
  • จุดสำคัญที่จะทำให้เกิดปัญญาขึ้นมาก็คือการนำเอาขันธ์ ๕ นี้มาพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง แล้วก็จะพบว่าแท้จริงมันไม่มีตัวเรา ซึ่งการพิจารณาก็คือ 
    • ๑. ขันธ์ทั้ง ๕ นี้จะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีขันธ์ใดที่จะอยู่นิ่งได้ และสุดท้ายก็ต้องแตกดับไปอย่างแน่นอน นี่แสดงว่าขันธ์ทั้ง ๕ นี้ไม่เที่ยงแท้ถาวร (อนิจจัง)
    • ๒. ขันธ์ทั้ง ๕ นี้จะต้องทนต่อความไม่เที่ยงแท้ถาวรนี้อยู่ตลอดเวลาด้วย ถ้าทนง่ายก็เรียกว่าสุข ถ้าทนยากก็เรียกว่าทุกข์ นี่แสดงว่าขันธ์ทั้ง ๕ นี้เป็นทุกข์ (ทุกขัง)
    • ๓. ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ต้องอาศัยสิ่งอื่นๆปรุงแต่งตัวมันขึ้นมา มันไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง นี่แสดงว่าขันธ์ทั้ง ๕ นี้ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง (อนัตตา)

๒๒. แท้จริงตัวเราจริงๆไม่มี 
  • จากการพิจารณาขันธ์ ๕ ที่ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์แล้วก็จะพบว่า “แท้จริงสิ่งที่จะมาเป็นตัวตนของเราหรือของใครๆนั้นไม่มี” จะมีก็เป็นเพียงสิ่งชั่วคราว ที่ไม่เที่ยงแท้ถาวร ไม่ช้ามันก็จะแตก (ใช้กับวัตถุ) ดับ (ใช้กับจิตใจ) ไปอย่างแน่นอน
  • สรุปได้ว่า ทุกสิ่งที่ “เกิดขึ้นมา”จะถูกสร้างหรือปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาจากธาตุ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นมานี้ก็จะไม่เที่ยง ต้องทนอยู่ และไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง 
  • จึงทำให้เห็นได้ว่าสิ่งที่จะมาเป็นตัวตนของเรา ไม่ว่าจะเป็นร่างกายหรือจิตใจก็ตามนั้นแท้จริงมันไม่สามารถจะมีได้เลย ส่วนสิ่งที่มีอยู่ก็เป็นเพียง “สังขาร” หรือสิ่งที่ถูกปรุงแต่งหรือสร้างสรรค์ขึ้นมาตามธรรมชาติเท่านั้น.

๒๓. เห็นแจ้งอริยสัจ ๔ 
  • เมื่อเราเข้าใจอย่างถูกต้องแล้วว่าแท้จริงตัวเราหรือของใครๆไม่มีแล้ว ก็เรียกว่ามีปัญญาขั้นคิดพิจารณาจนเกิดความเข้าใจ ขึ้นมาแล้ว ต่อจากนั้นก็ต้องมีการทดลองปฏิบัติโดยใช้จิตที่มีสมาธิ (จากการฝึก) มากำจัดความรู้สึกว่ามีตัวเรานี้ให้ดับหายไป 
  • และถ้าทำได้ความทุกข์ที่กำลังเกิดอยู่ก็จะดับหายไป หรือที่ยังไม่เกิดก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งก็จะทำให้จิตสงบ เยือกเย็น ปลอดโปร่ง แจ่มใส เบาสบายอย่างที่สุด (นิพพาน) พร้อมทั้งจะเกิดความรู้ขึ้นมาเองว่านี่คือความดับลงของทุกข์ที่แท้จริงอีกด้วย

๒๔. พระอริยบุคคล 
  • พระอริยบุคคล หมายถึง บุคคลที่ประเสริฐ ซึ่งพระอริยบุคคลนี้มีอยู่ ๔ ประเภท อันได้แก่ 
    • ๑. พระโสดาบัน คือผู้ที่เห็นแจ้งอริยสัจ ๔ แล้ว สามารถดับทุกข์ได้จริงแล้วในบางครั้ง 
    • ๒. พระสกิทาคามี คือผู้ที่ปฏิบัติสูงขึ้นจนสามารถดับทุกข์ได้ทุกครั้งที่เผลอให้ทุกข์เกิดขึ้นมาได้ตามต้องการ 
    • ๓. พระอนาคามี คือผู้ที่ปฏิบัติสูงขึ้นจนแทบไม่มีทุกข์เหลือมาให้ดับอีกแล้ว 
    • ๔. พระอรหันต์ คือผู้ที่ปฏิบัติสูงขึ้นจนไม่มีทุกข์กลับมาเกิดอีกอย่างถาวร
    • ผู้ที่เริ่มเห็นแจ้งอริยสัจ ๔ นั้นจะยังเผลอให้ความทุกข์เกิดขึ้นได้บ่อยๆ เพราะสันดานหรือจิตใต้สำนึกยังคงมีความรู้สึกว่ามีตัวตนอยู่ จะต้องมีการปฏิบัติที่สูงขึ้นและต่อเนื่องมั่นคง จนทำให้ความรู้สึกว่ามีตัวตนเลือนหายไปจากสันดานหรือจิตใต้สำนึก(ไม่มีสัญชาตญาณของความมีตัวตน) จิตก็จะไม่มีความทุกข์อย่างถาวรได้.

๒๕. จิตว่างคืออริยมรรค 
  • ในการปฏิบัติตามหลักอริยสัจ ๔ นี้ก็สรุปอยู่ที่การมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อน และก็มีการฝึกสมาธิประกอบอยู่ด้วย แล้วก็ต้องเรียนรู้จนเข้าใจว่าแท้จริงมันไม่มีตัวเราด้วย ซึ่งนี่คือพื้นฐานที่จำเป็นอย่างยิ่ง.
  • ทีนี้เวลาจะนำมาใช้งานก็ต้องคอยระวังจิตอยู่เสมออย่าให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราหรือตัวตนใดๆเกิดขึ้นมา ซึ่งเรียกว่าทำ “จิตให้ว่าง”จากกิเลส หรือจากตัวตน และเมื่อทำได้ ไม่ว่าเราจะปฏิบัติหน้าที่การงานใดๆอยู่ก็ตาม หรือจะเกิดอะไรที่ไม่น่ายินดีอย่างที่สุดขึ้นมาก็ตาม จิตก็จะไม่เกิดความทุกข์ใดๆขึ้นมา ซึ่งนี่ก็คือลักษณะของนิพพานที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันของเรา ถ้าปฏิบัติได้เป็นครั้งคราวก็ยังเป็นเพียงนิพพานชนิดชั่วคราว แต่ถ้าปฏิบัติได้ถาวรก็จะเป็นนิพพานชนิดถาวรได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น