วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558

บทที่ ๓ พุทธธรรม


บทที่ ๓ พุทธธรรม

๑. ธรรมะ ๒ ระดับ 
        คำว่า ธรรม หรือ ธรรมะ ในที่นี้จะหมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแบ่งออกได้ ๒ ระดับ คือ 
๑. ระดับพื้นฐาน (ศีลธรรม) ซึ่งสอนให้ละเว้นความชั่วและทำแต่ความดี ซึ่งเอาไว้สอนชาวบ้านทั่วไป 
๒. ระดับสูง (ปรมัตถธรรม) ซึ่งสอนให้ทำจิตให้บริสุทธิ์ ซึ่งเอาไว้สอนคนที่มีปัญญา
๒.โอวาท ๓ ประการ
        ธรรมะของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนี้สามารถสรุปเป็นหลักใหญ่ๆได้ ๓ ประการ อันได้แก่ 
๑. สอนให้ละเว้นการทำความชั่วทั้งปวง 
๒. สอนให้ทำความดีให้สมบูรณ์ 
๓. สอนให้ทำจิตให้บริสุทธิ์
๓. จุดหมายของพุทธศาสนา
        จุดหมายของพุทธศาสนาในแต่ละระดับก็คือ 
๑. ระดับพื้นฐานก็คือ เพื่อให้ชีวิตมีความปรกติสุข และเพื่อให้โลกมีสันติภาพ 
๒. ระดับสูงก็คือ เพื่อความพ้นทุกข์ หรือ นิพพาน
๔. อะไรคือความชั่ว
        ความชั่วก็คือ การกระทำที่ผู้คนเกลียดชัง ซึ่งสรุปอยู่ที่การเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนเป็นทุกข์ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม ซึ่งความชั่วที่เห็นได้ชัดก็คือ การละเมิดศีล ๕ และการลุ่มหลงอบายมุข ซึ่งต้นตอของความชั่วก็คือ กิเลส
๕. กิเลสคืออะไร
        กิเลส หมายถึง ความสกปรกของจิตใจ ซึ่งมีอยู่ ๓ อาการได้แก่ 
๑. ความโลภ คืออยากได้ของผู้อื่น 
๒. ความโกรธ คืออยากทำร้ายผู้อื่น 
๓. ความหลง คือหลงผิด ไม่รู้จริง 
        ตามธรรมดาจิตใจของเราจะสะอาด หรือบริสุทธิ์ และมีความปรกติสุข แต่เมื่อเกิดอาการของกิเลสขึ้นมาจิตใจก็จะมืดมัวหรือสกปรก และไม่มีความปรกติสุข คือจะมีความเร่าร้อนทรมานขึ้นมาแทน(เกิดความทุกข์).
๖. ความชั่วจากการไม่มีศีล ๕ 
        ความชั่วของชาวบ้านก็คือการละเมิด ศีล ๕ อันได้แก่ 
๑. การฆ่า หรือทำร้ายสิ่งที่มีชีวิต 
๒. การลักขโมย หรือเบียดเบียนทรัพย์สินของผู้อื่น 
๓. การประพฤติผิดในเรื่องทางเพศ 
๔. การพูดโกหก 
๕. การเสพสิ่งเสพติดหรือมึนเมา 
        ผู้ที่ไม่มีศีลก็จะไม่มีความปรกติสุข สังคมที่ไม่มีศีลก็จะไม่สงบสุข โลกที่ไม่มีศีลก็จะไม่มีสันติภาพ
๗. อบายมุข เหตุแห่งความเสื่อม
        อบายมุข แปลว่า ปากทางที่เริ่มไปสู่ความเสื่อม ซึ่งอบายมุขนี้ก็คือสาเหตุของปัญหาสังคม อันได้แก่ 
๑. เล่นการพนัน 
๒. ดื่มสุราและเสพสิ่งเสพติด 
๓. การเที่ยวกลางคืน 
๔. การเป็นนักเลงอันธพาล 
๕. การคบเพื่อนชั่ว 
๖. ความเกียจคร้าน
๘. อะไรคือความดี
        ความดีก็คือ การกระทำที่ผู้คนชื่นชอบ ซึ่งสรุปอยู่ที่การทำให้ผู้อื่นมีความสุข ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม ซึ่งความดีนี้แยกได้ ๒ ระดับคือ 
๑. ความดีขั้นพื้นฐาน อันได้การปฏิบัติหน้าที่และการงานอย่างถูกต้อง 
๒. ความดีขั้นสูง อันได้แก่การช่วยเหลือผู้อื่นในด้านต่างๆ 
        ต้นตอของความดีก็คือ ปัญญาขั้นต้น (คือความไม่โลภ, ไม่โกรธ, ไม่หลงผิด).
๙. ความดีขั้นสูงคืออะไร
        ความดีขั้นสูงก็คือการช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน หรือช่วยให้เขามีความสุข ซึ่งการช่วยนี้ก็สามารถทำได้ ๓ ลักษณะใหญ่ๆ คือ 
๑. ช่วยด้วยการให้ทรัพย์ หรือสิ่งของ 
๒. ช่วยด้วยการให้ความรู้ หรือวิชาการ 
๓. ช่วยด้วยการให้ธรรมะ หรืออบรมสั่งสอนหลักธรรมะ 
        พระพุทธองค์ทรงสอนว่า การให้ธรรมะชนะการให้ทั้งปวง เพราะธรรมะจะเป็นแสงสว่างของชีวิต ทำให้ผู้รับสามารถดำเนินชีวิตไปอย่างถูกต้อง คือไม่มีความทุกข์ มีแต่ความสงบสุขได้อย่างแท้จริง.
๑๐. บาปคืออะไร
        บาป คือ การทำชั่ว คือเมื่อเราทำความชั่วใดลงไป ก็เรียกว่าทำบาป ผลของบาปก็คือ ความรู้สึกทุกข์ใจ เช่นร้อนใจ(นรก) ไม่สบายใจ เวลาให้ผลของบาปนั้นก็มีอยู่ ๒ ช่วงคือ 
๑. ขณะกำลังทำอยู่ 
๒. หลังจากทำเสร็จแล้วระยะหนึ่
        ผลของบาปนี้จะมากหรือน้อยและจะตั้งอยู่นานหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรานั้นทำบาปมากหรือน้อยเพียงใด หรือบ่อยเพียงใด เปรียบเหมือนกับการที่เรากินอาหารเน่าเสียจำนวนมาก เราก็จะรู้สึกอึดอัดทรมานอยู่นาน แต่ถ้ากินน้อย ก็จะรู้สึกอึดอัดทรมานอยู่ไม่นาน ซึ่งบาปนี้บางทีก็เรียกว่าเป็น “กรรมชั่ว” ที่หมายถึง การกระทำชั่ว.
๑๑. บุญคืออะไร
        บุญ คือ การทำดี คือเมื่อเราทำความดีใดลงไป ก็เรียกว่าทำบุญ ผลของบุญก็คือ ความสุขใจ เช่น อิ่มใจ ( สวรรค์) สบายใจ เวลาให้ผลของบุญนี้ก็มีอยู่ ๒ ช่วงคือ 
๑. ขณะกำลังทำอยู่ 
๒. หลังจากทำเสร็จแล้วระยะหนึ่ง
ผลของบุญนี้จะมากหรือน้อยและจะตั้งอยู่นานหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรานั้นทำบุญมากหรือน้อยเพียงใด หรือบ่อยเพียงใด เปรียบเหมือนกับการที่เรากินอาหารที่มีประโยชน์จำนวนมาก เราก็จะรู้สึกอิ่มสบายอยู่นาน แต่ถ้ากินน้อย ก็จะรู้สึกอิ่มสบายอยู่ไม่นาน ซึ่งบุญนี้บางทีก็เรียกว่าเป็น “กรรมดี” ที่หมายถึง การกระทำดี.
๑๒. นรก-สวรรค์คืออะไร
        คำว่า “นรก” ของพุทธศาสนาจะหมายถึง สภาวะจิตขณะที่กำลังที่เร่าร้อนทรมาน เพราะทำบาปเอาไว้มาก(เช่นขณะที่เรากำลังร้องไห้เพราะเสียใจมาก) คำว่า “สวรรค์” ของพุทธศาสนาจะหมายถึง สภาวะจิตขณะที่กำลังมีความสุขใจ หรืออิ่มเอมใจอย่างยิ่ง เพราะได้ทำความดีเอาไว้มาก( เช่นขณะที่เรากำลังยิ้มร่าเพราะสุขใจมาก). 
        ส่วนนรกที่อยู่ใต้ดิน และสวรรค์ที่อยู่บนฟ้า ที่จะไปถึงได้ต่อเมื่อตายไปแล้วตามที่เราเคยได้ยินมานั้น ไม่ใช่ของพุทธศาสนา แต่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ที่ปะปนเข้าอยู่ในพุทธศาสนามาช้านานแล้ว จนทำให้ชาวพุทธหลงเข้าใจผิดคิดว่านี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเราจะต้องเข้าใจจุดนี้เอาไว้ด้วย.
๑๓. นิพพานคืออะไร
        นิพพาน แปลว่า ความสงบเย็น หรือความเย็นใจ คือเมื่อใดที่จิตของเราเกิดอาการของกิเลสใดๆขึ้นมา จิตของเราก็จะไม่บริสุทธิ์ หรือจะเศร้าหมอง แล้วมันก็จะเกิดความทุกข์ชนิดต่างๆขึ้นมา ซึ่งจะรุนแรงบ้าง ไม่รุนแรงบ้างตามกิเลสที่เกิดขึ้น แต่ขณะใดที่จิตเรามีสมาธิและปัญญา จิตของเราก็จะบริสุทธิ์ จากกิเลส แล้วมันก็จะสงบ เยือกเย็น ปลอดโปร่ง แจ่มใสขึ้นมาทันที ซึ่งนี่คืออาการที่เรียกว่านิพพาน นิพพานนี้ในแต่ละวันเราทุกคนก็พอจะมีกันอยู่บ้าง แต่ไม่มากหรือไม่ถาวร ถ้าใครมีมากหรือถาวรก็จะเป็นพระอริยบุคคล.
๑๔. ธรรมะอยู่ที่จิตใจของเราเอง
        เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ธรรมะของพุทธศาสนาจะอยู่ที่จิตใจของเราเองทั้งสิ้น เพราะพุทธศาสนาจะสอนเรื่องสภาวะของจิตใจ ไม่สอนเรื่องวัตถุภายนอก คือจะสอนว่า 
เมื่อใดเราทำความดี จิตก็จะเป็นสุข 
เมื่อใดที่เราความชั่ว จิตก็จะเป็นทุกข์ 
เมื่อใดที่เราทำจิตให้บริสุทธิ์ จิตของเราก็จะสงบเย็น
        ส่วนเรื่องผลดีหรือผลชั่วทางวัตถุหรือภายนอกนั้นเป็นเรื่องง่ายๆที่ใครๆก็รู้กันอยู่แล้ว (เช่นทำดีแล้วได้รางวัล หรือทำชั่วแล้วถูกลงโทษ เป็นต้น) ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน (เช่นบางทีทำดีแล้วไม่มีใครรู้ก็ไม่ได้รางวัล หรือคนทำชั่วแล้วปกปิดไว้ได้ก็ไม่ถูกลงโทษ เป็นต้น) ดังนั้นพุทธศาสนาจึงไม่สอนเรื่องทางวัตถุภายนอกอย่างนี้ ซึ่งเราควรเข้าใจให้ถูกต้อง มิฉะนั้นอาจจะเกิดความเข้าใจผิดต่อคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าได้.
๑๕. สรุปนรก-สวรรค์-นิพพาน
        คนโบราณได้กล่าวเอาไว้ว่า “สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ” และ “นิพพานคือความเย็นใจ” ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ถูกต้องที่สุด ดังจะสรุปได้ว่า 
ร้อนใจไปนรก 
ดีใจไปสวรรค์ 
เย็นใจไปนิพพาน
        จึงขอให้ทุกคนเข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ถูกต้อง เพื่อที่จะได้รับประโยชน์อย่างสูงสุดจากการเรียนรู้หลักธรรมะของพุทธศาสนา และไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วมาพบพระพุทธศาสนา
๑๖. ตายแล้วไปไหน
        ตามหลักพุทธศาสนาแล้วไม่สอนว่าตายแล้วไปไหน เพราะไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่จะสอนให้คิดว่า เมื่อเทียนดับ แสงสว่างหายไปไหน? คือร่างกายก็เหมือนแท่งเทียน จิตใจก็เหมือนแสว่างที่เกิดจากการเปลวเทียนที่ลุกไหม้ เมื่อเปลวไฟเทียนดับ แสงสว่างก็จะดับหายตามไปด้วย เมื่อจุดไฟใหม่ แสงสว่างก็กลับมามีอีก ซึ่งนี่เป็นการคิดตามหลักวิทยาศาสตร์. จบบทที่ ๓

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น