วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2558

บทที่ ๑๔ ธรรมประยุกติ

บทที่ ๑๔ ธรรมประยุกติ

๑. อธิปไตย ๓ 
ธรรมชาติของมนุษย์จะมีความเห็นและความเชื่อจากลักษณะ ๓ ประการนี้คือ 
  • ๑. อัตตาธิปไตย คือมีตนเป็นใหญ่ 
  • ๒. โลกาธิปไตย คือมีโลกเป็นใหญ่ 
  • ๓. ธรรมาธิปไตย คือมีธรรมะเป็นใหญ่
  • อัตตาธิปไตย ก็คือเอาความเห็นของตนเป็นใหญ่ เชื่อมั่นตนเอง ส่วนโลกาธิปไตยก็คือเชื่อตามชาวโลก หรือตามคนอื่น ซึ่งทั้งสองนี้ก็มีทางที่จะเป็นความเห็นหรือความเชื่อที่ผิดได้ จะต้องเป็นธรรมาธิปไตย คือเชื่อตามหลักความจริงที่ปรากฏ จึงจะเป็นความเห็นที่ถูกต้อง


๒. กำลัง ๘ 
พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงเรื่องสิ่งที่มีกำลังในการเอาชนะไว้ดังนี้ 
  • ๑. เด็กมีการร้องไห้เป็นกำลัง 
  • ๒. สตรีมีความโกรธเป็นกำลัง 
  • ๓. โจรมีอาวุธเป็นกำลัง 
  • ๔. พระราชามีอิสริยะ(ความเป็นใหญ่)เป็นกำลัง 
  • ๕. คนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง 
  • ๖. บัณฑิตมีการเพ่งโทษตนเองเป็นกำลัง 
  • ๗. ผู้สดับมากมีการพิจารณาเป็นกำลัง 
  • ๘. สมณะพราหมณ์มีขันติเป็นกำลัง


๓. วาจาสุภาษิต 
หลักในการพูดนั้นพระพุทธองค์ทรงวางหลักไว้ดังนี้ 
  • ๑. คำพูดใดไม่จริง ไม่แท้และไม่เป็นประโยชน์ ไม่ควรพูด 
  • ๒. คำพูดใด ไม่จริง ไม่แท้ แต่เป็นที่รักที่พอใจของผู้ฟัง ก็ไม่ควรพูด 
  • ๓. คำพูดใด จริงแท้ แต่ไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่ควรพูด 
  • ๔. คำพูดใดจริงแท้และเป็นประโยชน์ แต่ไม่เป็นที่รักของผู้ฟัง จะต้องรู้เวลาที่จะพูด 
  • ๕. คำพูดใดจริงแท้และเป็นประโยชน์ และเป็นที่รักที่พอใจของผู้ฟังจึงสมควรพูด


๔. การปฏิบัติเกี่ยวกับเวลา 
บุคคลทั่วไปนั้นมักจะเฝ้าอาลัยอาวรณ์กับอดีต และวิตกกังวลกับอนาคต แต่พระพุทธองค์ทรงสอนว่า 
  • ๑. อย่าอาลัยอาวรณ์กับอดีต เพราะมันไม่สามารถย้อนกลับมาได้ 
  • ๒. และอย่าวิตกกังวลกับอนาคต เพราะมันยังมาไม่ถึง 
  • ๓. จงทำปัจจุบันให้ดีที่สุด แล้วอนาคตจะจัดตัวของมันเอง


๕. สิ่งที่ควรพิจารณาเนืองๆ 
พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราหมั่นพิจารณาตนเองอยู่เสมอๆว่า 
  • ๑. วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่
  • ๒. เมื่อเราทำสิ่งใดไว้เราย่อมจะได้รับผลจากการกระทำนั้น 
  • ๓. เรามีคุณความดีอะไรที่จะเอาไว้อวดคนอื่นบ้างหรือไม่
  • ๔. เรามีอะไรที่จะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นบ้างหรือไม่


๖. ผู้พูดปดทั้งๆที่รู้ 
  • พระพุทธองค์ทรงสอนว่า “ผู้ที่ยังพูดโกหกอยู่ทั่งๆที่รู้ การที่จะไม่ทำความชั่วอื่นอีกเป็นไม่มี” คือคนที่ชอบพูดโกหกนั้น เขาย่อมพูดเพื่อเอาตัวรอด หรือเพื่อประโยชน์แก่ตนเองโดยไม่สนใจผู้อื่น ดังนั้นการพูดโกหก จึงเป็นเครื่องชี้ว่าคนพูดนั้นมีการทำสิ่งที่ไม่ดีงาม(ชั่ว)เอาไว้ หรือจะมีการทำสิ่งที่ไม่ดีงาม(ชั่ว)อีกอย่างแน่นอนในอนาคต ดังนั้นเราจึงควรระมัดระวังคนเหล่านี้ให้ดี.


๗. การศึกษาให้แจ่มแจ้ง 
  • ในการศึกษาสิ่งใดนั้น เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ซึ่งหลักในการศึกษานั้นก็คือ เราจะต้อง ศึกษาให้ “ลึกและรอบด้าน” คือศึกษาให้ลึกที่สุด และรอบด้าน หรือศึกษาให้หมดและรวมทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วย เหมือนกับการศึกษาสระน้ำ ที่ต้องรู้ถึงความลึกและความกว้างของสระน้ำให้หมด จึงจะรู้จักสระน้ำนั้นอย่างแจ่มแจ้งแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น