วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2558

บทที่ ๑๕ ปรมัตถธรรม

บทที่ ๑๕ ปรมัตถธรรม

๑. พระพุทธเจ้าสอนอะไร
  • คำสอนของพระพุทธเจ้าก็สรุปได้ ๒ ระดับคือ 
    • ๑. ระดับศีลธรรม ซึ่งสอนให้ละการทำชั่วแล้วสอนให้ทำแต่ความดี 
    • ๒. ระดับปรมัตถธรรม (ลึกซึ้งสูงสุด) ซึ่งสอนให้ทำจิตให้บริสุทธิ์
  • ศีลธรรมนั้นเป็นคำสอนที่จะช่วยให้ชีวิตมีความปกติสุข ไม่เดือดร้อน แต่ก็ยังมีความทุกข์ที่ลึกซึ้งอยู่อีกมาก เช่นความทุกข์จากความพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งที่รัก, ความทุกข์จากความแก่ ,และความตาย เป็นต้น ที่คำสอนระดับศีลธรรมก็ยังกำจัดไม่ได้ จึงต้องมีคำสอนระดับสูง(ปรมัตถธรรม)เพื่อมากำจัดความทุกข์ในส่วนนี้.

๒. อริยสัจ ๔ หลักในการดับทุกข์ 
  • ธรรมะในระดับปรมัตถธรรมนี้ก็สรุปอยู่ที่ อริยสัจ ๔ ที่หมายถึง ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ อันได้แก่ 
    • ๑. ทุกข์ คือความทุกข์ 
    • ๒. สมุทัย คือสาเหตุของความทุกข์ 
    • ๓. นิโรธ คือความดับลงของทุกข์(นิพพาน) 
    • ๔. มรรค คือวิธีปฏิบัติเพื่อดับทุกข์
  • อริยสัจ ๔ นี้สรุปได้ ๒ ประการ คือ มีทุกข์ กับ ไม่มีทุกข์ โดยทุกข์ก็มาจากเหตุ และเมื่อไม่มีเหตุทุกข์ก็ไม่มี

๓. หลักการศึกษาอริยสัจ ๔ 
  • ในการศึกษาอริยสัจ ๔ นี้จะต้องมีการศึกษาและปฏิบัติตามลำดับคือ 
    • ๑. กำหนดรู้จักตัวความทุกข์ให้ถูกต้องก่อน 
    • ๒. กำหนดรู้และกำจัดสาเหตุของทุกข์นี้ให้ได้ 
    • ๓. เห็นแจ้งในความดับลงของทุกข์นี้ด้วยจิตจริงๆ 
    • ๔. พยายามปฏิบัติเพื่อให้ทุกข์นี้ดับลงอย่างถาวร

๔. ความทุกข์เป็นอย่างไร
  • สิ่งที่มนุษย์ทุกคนเกลียดกลัวอย่างยิ่งก็คือ ความทุกข์ ซึ่งความทุกข์ทั้งหลายนั้นก็สรุปอยู่ใน 
    • ความรู้สึกว่ามีตนเองแก่ 
    • ความรู้สึกว่ามีตนเองจะตาย 
    • ความรู้สึกว่ามีตนเองพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก 
    • ความรู้สึกว่ามีตนเองประสบกับบุคลหรือสิ่งอันไม่เป็นที่รักอยู่ 
    • ความรู้สึกว่ามีตนเองที่อยากได้สิ่งใดไว้แล้วไม่สมตามที่อยาก
  • สรุปได้ว่าความทุกข์นั้นอยู่ที่ความรู้สึกว่ามีตัวเราที่กำลังประสบกับความรู้สึกที่ไม่อยากจะประสบอยู่ ซึ่งเมื่อเราประสบเข้าก็จะทำให้เกิดความทุกข์ในลักษณะต่างๆขึ้นมา มากบ้างน้อยบ้าง 
  • จนทำให้เกิดตั้งแต่ความรู้สึกไม่สบายใจ ขึ้นไปเป็นความทุกข์ใจ ทรมานใจ ที่แสดงออกมาเป็นความเศร้าโศก เสียใจ แห้งเหี่ยวใจ จนร้องไห้คร่ำครวญ เป็นต้นนั่นเอง.

๕. สาเหตุของทุกข์คืออะไร
  • พุทธศาสนาจะมีหลักอยู่ว่า “ทุกสิ่งย่อมเกิดมาจากเหตุ” ดังนั้นความทุกข์ก็ต้องมีเหตุมาทำให้เกิด ซึ่งเมื่อสรุปแล้วสาเหตุของความทุกข์ทั้งหลายนั้นก็คือ “ความรู้สึกว่ามีตัวเรา” อย่างเช่น คนที่มีร่างกายแก่ ถ้าเกิดความรู้สึกว่ามีตนเองแก่ จิตใจเขาก็จะเป็นทุกข์ หรือคนที่กำลังจะตาย ถ้าเกิดความรู้สึกว่ามีตนเองกำลังจะตาย จิตใจเขาก็จะเป็นทุกข์ หรือเมื่อเกิดความรู้สึกว่ามีตนเองที่กำลังพลัดพรากจากบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รักอยู่ จิตใจ ก็จะเป็นทุกข์ เป็นต้น.

๖. ความดับทุกข์เป็นอย่างไร
  • เมื่อความทุกข์มาจากเหตุ ถ้าไม่มีเหตุความทุกข์ก็จะไม่มี ดังนั้น ถ้าไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวเราเสียอย่างเดียวเท่านั้น ความทุกข์ทั้งหลายก็จะไม่เกิดขึ้นแก่จิตใจที่สมมติเรียกว่าเรานี้
  • เมื่อจิตเกิดทุกข์ ก็จะมีความรู้สึกทรมาน ไม่น่ายินดี แต่ถ้าจิตไม่มีทุกข์ จิตก็จะบริสุทธิ์ และเป็นปรกติ คือเบาสบาย สงบ เยือกเย็น ปลอดโปร่ง แจ่มใส ซึ่งนี่คืออาการที่เรียกว่า “นิพพาน” ที่แปลว่า สงบเย็น
  • นิพพานนี้ก็มีทั้งอย่างชั่วคราว(ไม่ถาวร) สำหรับผู้คนทั่วๆไปที่สามารถปฏิบัติได้เป็นครั้งคราว และอย่างถาวรสำหรับพระอริยบุคคลขั้นสูง ซึ่งนิพพานชั่วคราวนี้เองที่เราจะต้องพยายามปฏิบัติให้เห็นแจ้งให้ได้ เพื่อจะได้ค้นพบความดับลงของทุกข์ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเชื่อใคร.

๗. วิธีปฏิบัติเพื่อดับทุกข์เป็นอย่างไร 
  • วิธีปฏิบัติเพื่อให้ความทุกข์นี้ดับลงนั้นเรียกว่า มรรค ที่แปลว่า ทาง หรือ อริยมรรค ที่แปลว่า หนทางอันประเสริฐ ซึ่งวิธีปฏิบัตินี้มีองค์ประกอบอยู่ถึง ๘ องค์ประกอบ แต่สรุปลงเหลือ ๓ ส่วนคือ 
    • ๑. ศีล คือ การมีจิตที่เป็นปรกติ 
    • ๒. สมาธิ คือการมีจิตที่ตั้งมั่น 
    • ๓. ปัญญา คือมีความรอบรู้ในเรื่อง “ไม่มีตัวเรา”
  • ในการปฏิบัติจริงนั้นเราจะต้องมีทั้ง ศีล สมาธิ และปัญญามาทำหน้าที่พร้อมกันจึงจะทำให้ความทุกข์ดับลงได้ ซึ่งก่อนอื่นเราก็ต้องตั้งใจรักษาศีลเอาไว้ก่อน แล้วก็ต้องมีการฝึกฝนสมาธิเอาไว้ด้วย และที่สำคัญเราจะต้องมีความรอบรู้หัวใจของอริยสัจ ๔ นั่นก็คือเรื่องที่ว่า “ความจริงมันไม่มีตัวเรา” (พุทธศาสนาเรียกว่า วิชชา).

๘. ศีล คือ ความปกติ 
  • ศีล แปลว่า ปรกติ คือหมายถึงการมีจิตที่เป็นปรกติ ซึ่งการที่เราจะมีจิตปรกติได้นั้นเราจะต้องมีกาย และวาจาที่เรียบร้อย ซึ่งศีลของมรรคนี้ก็ได้แก่ 
    • ๑. การไม่ทำร้ายสิ่งที่มีชีวิต 
    • ๒. การไม่เบียดเบียนทรัพย์ของผู้อื่น 
    • ๓. การไม่ประพฤติผิดในเรื่องทางเพศ 
    • ๔. การไม่พูดโกหก 
    • ๕. การไม่พูดคำหยาบ 
    • ๖. การไม่พูดคำส่อเสียดยุยง 
    • ๗. การไม่พูดเรื่องเพ้อเจ้อไร้สาระ

๙. สมาธิ คือ ความตั้งใจมั่น 
  • สมาธิ แปลว่า ตั้งมั่นอยู่เสมอ คือมีจิตที่ตั้งมั่นอยู่เสมอ ซึ่งจิตที่มีสมาธิจะมีลักษณะ ๓ ประการคือ 
    • ๑. บริสุทธิ์ คือไม่มีกิเลส ไม่มีนิวรณ์ 
    • ๒. ตั้งมั่น คือ มั่นคง เข้มแข็ง 
    • ๓. เหมาะแก่การงาน คือมีความอ่อนโยน สุขุม รอบครอบ

๑๐. สมาธิ ๒ ประเภท 
  • สมาธินี้ก็มีอยู่ ๒ ประเภท อันได้แก่ 
    • ๑. สมาธิใช้งาน หรือสมาธิตามธรรมชาติที่ใช้กันอยู่เสมอ 
    • ๒. สมาธิขั้นสูง(ฌาน) คือความตั้งใจที่สูงมาก
  • สมาธิใช้งานนี้ก็คือความตั้งใจในการเรียน การพูด การคิด และการทำงานทั้งหลาย ซึ่งเราก็พอจะมีกันอยู่บ้างแล้วแต่ว่าไม่มาก ส่วนสมาธิขั้นสูงนี้จะเกิดจากการฝึกฝนและถ้าเกิดขึ้นจะไม่มีแม้การคิดนึกใดๆอยู่เลย ซึ่งสมาธิขั้นสูงนี้จะเป็นพื้นฐานให้แก่สมาธิใช้งานสมบูรณ์ได้

๑๑. นิวรณ์ ๕ 
  • สิ่งที่เป็นศัตรูของสมาธิก็คือกิเลสอ่อนๆ ที่เรียกว่า นิวรณ์ ที่หมายถึง สิ่งปิดกั้นจิต ซึ่งนิวรณ์นี้ก็มีอยู่ ถึง ๕ อาการ อันได้แก่ 
    • ๑. ความรู้สึกพึงพอในเรื่องกามารมณ์ 
    • ๒. ความรู้สึกอึดอัดขัดเคืองใจหรือ อาฆาตพยาบาท 
    • ๓. ความคิดฟุ้งซ่านรำคาญใจ 
    • ๔. ความรู้สึกหดหู่ เซื่องซึม มึนชา 
    • ๕. ความลังเลสงสัยในสิ่งที่เอาเป็นที่พึ่ง
  • นิวรณ์แต่ละตัวนี้เองที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเกิดขึ้นมาครอบงำจิตของเราอยู่เกือบจะทั้งวัน แล้วก็ทำให้จิตของเรา เศร้าหมอง ไม่สงบ ไม่ปลอดโปร่งแจ่มใส และไม่มีแม้สมาธิใช้งาน ซึ่งนี่ก็คือความทุกข์ชนิดอ่อนๆที่เกิดขึ้นแก่จิตของเราอยู่เกือบจะทั้งวันจนชินชาโดยเราไม่รู้จักหรือไม่สนใจ จึงทำให้จิตของเรา ไม่นิพพาน.

๑๒. การฝึกอานาปานสติ 
  • อานาปานสติ แปลว่า การมีสติกำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ทุกลมหายใจเข้า-ออก ซึ่งอานาปานสตินี้เป็นการฝึกสมาธิขั้นสูง(ฌาน)ที่ดีวิธีหนึ่ง ซึ่งหลักการฝึกโดยสรุปก็มีดังนี้ 
    • ๑. นั่งขัดสมาธิ ตัวตรงจะหลับตาหรือลืมตาก็ได้ 
    • ๒. กำหนดอยู่ที่ลมหายใจที่กระทบอยู่บริเวณจมูกตลอดเวลา 
    • ๓. พยายามบังคับลมหายใจให้เบาและยาวอยู่เสมอ 
    • ๔. พยายามระวังตัวอยู่เสมออย่าให้นิวรณ์หรือความคิดใดๆเกิดขึ้นมา
  • ในการฝึกเราจะต้องอดทนหมั่นฝึกอยู่เสมอๆ จนความคิดหรือนิวรณ์เบาบางลง แล้วจิตก็จะเริ่มสงบขึ้น เบาสบายขึ้น มีความสุขที่สงบขึ้น มีสติมากขึ้น ซึ่งนี่แสดงว่าเราเริ่มจะมีสมาธิขั้นสูงขึ้นมาบ้างแล้ว และถ้าสามารถฝึกฝนจนนิวรณ์และความคิดต่างๆระงับดับลงได้เป็นเวลานานๆ จนจิตสงบมากขึ้น มีความสุขที่สงบมากขึ้น และมีสติตลอดเวลา ก็แสดงว่าจิตบรรลุถึงสมาธิขั้นสูงที่เรียกว่า “ฌาน”ในขั้นต้นๆแล้ว ซึ่งก็ให้พยายามฝึกต่อไปอย่างสม่ำเสมอจนชำนาญ แล้วจิตก็จะเลื่อนไปสู่ฌานที่สูงๆขึ้นต่อไป.

๑๓. ปัญญาสูงสุดคือความรู้ว่าไม่มีตัวเรา 
  • คำว่า ปัญญา ในทางพุทธศาสนาจะหมายถึง ความรอบรู้ในเรื่องการดับทุกข์ ซึ่งปัญญาสูงสุดในพุทธศาสนาก็คือความรอบรู้เรื่อง อนัตตา ความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง(พุทธศาสนาเรียกว่า วิชชา)
  • เรื่องอนัตตานี้เป็นเรื่องลึกซึ้งมาก การที่จะเข้าใจได้ถูกต้องนั้นยาก ยิ่งเห็นแจ้งก็ยิ่งยาก เพราะจะต้องมีการเรียนรู้หลักพื้นฐานขึ้นไปเรื่อยๆ พร้อมกับมีการคิดพิจารณาด้วยเหตุผล จนเข้าใจถูกต้อง แล้วก็ต้องมีการทดลองปฏิบัติจนเห็นแจ้ง จึงจะเรียกว่ามีปัญญาได้อย่างแท้จริง ซึ่งเราจะได้เรียนรู้กันต่อไป.

๑๔. กฎอิทัปปัจจยตา 
  • กฎอิทัปปัจจยตา ก็คือกฎที่บอกให้รู้ว่าเมื่อมีเหตุจึงมีผล คือกฎนี้จะบังคับเอาไว้เลยว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจะต้องมีเหตุมาทำให้เกิด และไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆ ซึ่งสามารถแยกแยะได้ดังนี้ 
    • เมื่อมีเหตุ จึงมีผล
    • เมื่อไม่มีเหตุ ผลจึงไม่มี
    • เมื่อเหตุเกิดขึ้น ผลจึงเกิดขึ้น
    • เมื่อเหตุดับลง ผลจึงดับลง
  • เมื่อพิจารณาให้ละเอียดเราก็จะพบว่า เหตุจะทำให้เกิดผล และผลก็จะกลับมาเป็นเหตุให้เกิดผลใหม่ขึ้นมาได้อีก คือมันจะผลักดันกันไปเรื่อยๆ เป็นเหมือนสายโซ่ที่คล้องต่อกันไปเรื่อยๆ 
  • และเพียงเหตุเดียวก็สามารถทำให้เกิดหลายๆผลได้ รวมทั้งผลเดียวก็จะมาจากหลายๆเหตุได้อีก ซึ่งนี่คือการปรุงแต่งผลักดันกันให้เกิดสิ่งต่างๆ ทั้งวัตถุ ร่างกาย และจิตใจของเราขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์

๑๕. ธาตุ ๖ 
  • ธาตุ หมายถึง สิ่งที่เป็นพื้นฐานของสิ่งต่างๆ ซึ่งธาตุที่เป็นพื้นฐานที่สุดของทุกสิ่งนี้ก็มีอยู่ ๖ ธาตุ อันได้แก่ 
  • ๑. ธาตุดิน คือของแข็ง 
  • ๒. ธาตุน้ำ คือของเหลว 
  • ๓. ธาตุไฟ คือความร้อน 
  • ๔. ธาตุลม คือก๊าซต่างๆ 
  • ๕. ธาตุว่าง คือสุญญากาศ 
  • ๖. ธาตุวิญญาณ คือการรับรู้
  • วัตถุทั้งหลายจะเกิดมาจากการที่ธาตุดิน, ธาตุน้ำ, ธาตุไฟ, และธาตุลมปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นมา และอาศัยธาตุว่างตั้งอยู่ ซึ่งธาตุทั้ง ๔ นี้จัดเป็นวัตถุธาตุ (ธาตุที่มีรูปร่าง) ส่วนธาตุวิญญาณนั้นจัดเป็นนามธาตุ (ธาตุที่ไม่มีรูปร่าง).

๑๖. วิญญาณธาตุ 
  • วิญญาณธาตุหรือธาตุวิญญาณ นี้ก็คือกิริยาที่รู้ หรือรับรู้ ที่เกิดขึ้นที่อวัยวะตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย,และใจ (สมอง) ของเรานี่เอง เช่นเมื่อตาเห็นรูป การรับรู้รูปก็จะเกิดขึ้น ซึ่งการรับรู้รูปนั่นเอง ที่เรียกว่าเป็นวิญญาณที่เกิดขึ้นทางตา เป็นต้น 
  • คือวิญญาณนี้จะสามารถเกิดขึ้นได้ที่ตา, หู, จมูก, ลิ้น,กาย,และใจที่ยังดีอยู่ของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย (มนุษย์,สัตว์,พืช) และจะเป็นพื้นฐานให้เกิดจิตใจที่สามารถรู้สึกนึกคิดได้ของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายนั่นเอง
  • ธาตุวิญญาณนี้ไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง จะต้องอาศัยสิ่งอื่นๆช่วยกันปรุงแต่งขึ้นมา เมื่อสิ่งที่สร้างขึ้นมานั้นเสียหายไป ธาตุวิญญาณนี้ก็จะดับหายไป หรือไม่มี เหมือนกับแสงสว่างที่ต้องอาศัยเปลวไฟจากเทียนที่ติดไฟอยู่เกิดขึ้นมา.

๑๗ . ขันธ์ ๕ 
ขันธ์ แปลว่า พวก ,หมู่ ,ส่วน ซึ่งชีวิตของเรานี้จะประกอบด้วยขันธ์ ๕ ขันธ์ อันได้แก่ 
  • ๑. รูป คือส่วนที่เป็นรูปร่างหรือวัตถุ 
  • ๒. เวทนา คือส่วนที่เป็นความรู้สึกทั้งหลาย 
  • ๓. สัญญา คือส่วนที่เป็นความจำทั้งหลาย 
  • ๔. สังขาร คือส่วนที่เป็นความคิดทั้งหลาย 
  • ๕. วิญญาณ คือส่วนที่เป็นการรับรู้ทั้งหลาย
  • ส่วนที่เป็นรูปนี้ก็คืออวัยวะต่างๆที่ประกอบขึ้นมาเป็นร่างกายของเรา ส่วนที่เป็นเวทนา,สัญญา,สังขาร,และวิญญาณนี้ก็คือส่วนที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นจิตใจของเราที่รับรู้,แล้วก็รู้สึก,และจำได้,พร้อมทั้งคิดอยู่ในขณะที่ตื่นอยู่นี่เอง.

๑๘. อายตนะ ๖ 
อายตนะ แปลว่า สิ่งเชื่อมต่อ ซึ่งอายตนะนี้มีอยู่ ๒ ประเภท อันได้แก่ 
  • ๑. อายตนะภายใน คือ สิ่งเชื่อมต่อที่อยู่ภายในอันได้แก่ ๑. ตา ๒. หู ๓. จมูก ๔. ลิ้น ๕. กาย ๖. ใจ 
  • ๒. อายตนะภายนอก คือสิ่งเชื่อต่อที่อยู่ภายนอก อันได้แก่ ๑. รูป ๒. เสียง ๓. กลิ่น ๔. รส ๕.สิ่งที่สัมผัสด้วยกาย (เช่น เย็น ,ร้อน,อ่อน,แข็ง) ๖. สิ่งที่สัมผัสด้วยใจ ( ทุกอย่างที่ใจสัมผัสได้)
  • การศึกษาพุทธศาสนานั้นจะต้องเริ่มศึกษาจากอายตนะทั้ง ๒ นี้ เพราะทุกสิ่งจะเริ่มจากการที่อายตนะทั้ง ๒ นี้มาสัมผัสกันเข้า แล้วก็ทำให้เกิดสิ่งอื่นๆตามมา เช่น เมื่อตาสัมผัสกับรูป, แล้วเกิดความรู้สึก, เกิดความจำ, และเกิดการคิดให้รู้สึกว่ามีตัวเราขึ้นมา จนเกิดความทุกข์ตามมาอีก เป็นต้น.

๑๙. กฎไตรลักษณ์ 
กฎไตรลักษณ์ หมายถึง ลักษณะ ๓ ประการของสิ่งทั้งหลายที่ “เกิดขึ้นมา” ซึ่งกฎนี้ก็ได้แก่ 
  • ๑. อนิจจัง คือความไม่เที่ยงแท้ถาวร 
  • ๒. ทุกขัง คือความที่ต้องทน 
  • ๓. อนัตตา คือความไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง 
  • สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาจากการที่ธาตุทั้งหลายสร้างหรือปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมานี้ จะต้องตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์นี้ทั้งสิ้น คือจะไม่เที่ยงแท้ถาวร มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและต้องแตกดับไปในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว และขณะที่ยังตั้งอยู่ก็ต้องทนต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะด้วย รวมทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นมานี้ก็ไม่มีตัวตนเป็นของตนเองอีกด้วย(คือต้องอาศัยสิ่งอื่นๆปรุงแต่งขึ้นมา).

๒๐. อัตตาคือความเห็นผิด 
  • คำว่า อัตตา หมายถึง ตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร ซึ่งเป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ที่สอนว่า จิต หรือวิญญาณของเรานี้เป็นตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร ไม่มีดับสลาย สามารถออกจากร่างกายที่ตายแล้วไปเกิดใหม่ยังร่างกายใหม่ๆได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด 
  • ซึ่งก็ทำให้เกิดความเชื่อเรื่องวิญญาณเวียนว่ายตายเกิด และเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า เทวดา นางฟ้า และเรื่องชาติก่อน ชาติหน้าเป็นต้นขึ้นมา อย่างที่ปลอมบนอยู่ในพุทธศาสนาของเราในปัจจุบัน.
  • ลักษณะของอัตตานี้จะตรงข้ามกับอนัตตาของพุทธศาสนา คือจะเที่ยงแท้ถาวร ไม่มีดับสลาย ไม่ต้องทนอยู่ และมีตัวตนเป็นของตนเองโดยไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นสร้างขึ้นมา ซึ่งความเชื่อนี้ได้ฝังแน่นอยู่ในจิตใต้สำนึกของทุกคน จึงทำให้ยอมรับความเชื่อเรื่องอัตตานี้กันอย่างฝังแน่นและเกือบจะทุกคน แล้วก็ส่งผลให้ความเชื่อเรื่องอนัตตาของพระพุทธเจ้าไม่ค่อยจะมีคนยอมรับ.

๒๑. ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา 
  • จุดสำคัญที่จะทำให้เกิดปัญญาขึ้นมาก็คือการนำเอาขันธ์ ๕ นี้มาพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง แล้วก็จะพบว่าแท้จริงมันไม่มีตัวเรา ซึ่งการพิจารณาก็คือ 
    • ๑. ขันธ์ทั้ง ๕ นี้จะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีขันธ์ใดที่จะอยู่นิ่งได้ และสุดท้ายก็ต้องแตกดับไปอย่างแน่นอน นี่แสดงว่าขันธ์ทั้ง ๕ นี้ไม่เที่ยงแท้ถาวร (อนิจจัง)
    • ๒. ขันธ์ทั้ง ๕ นี้จะต้องทนต่อความไม่เที่ยงแท้ถาวรนี้อยู่ตลอดเวลาด้วย ถ้าทนง่ายก็เรียกว่าสุข ถ้าทนยากก็เรียกว่าทุกข์ นี่แสดงว่าขันธ์ทั้ง ๕ นี้เป็นทุกข์ (ทุกขัง)
    • ๓. ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ต้องอาศัยสิ่งอื่นๆปรุงแต่งตัวมันขึ้นมา มันไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง นี่แสดงว่าขันธ์ทั้ง ๕ นี้ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง (อนัตตา)

๒๒. แท้จริงตัวเราจริงๆไม่มี 
  • จากการพิจารณาขันธ์ ๕ ที่ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์แล้วก็จะพบว่า “แท้จริงสิ่งที่จะมาเป็นตัวตนของเราหรือของใครๆนั้นไม่มี” จะมีก็เป็นเพียงสิ่งชั่วคราว ที่ไม่เที่ยงแท้ถาวร ไม่ช้ามันก็จะแตก (ใช้กับวัตถุ) ดับ (ใช้กับจิตใจ) ไปอย่างแน่นอน
  • สรุปได้ว่า ทุกสิ่งที่ “เกิดขึ้นมา”จะถูกสร้างหรือปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมาจากธาตุ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นมานี้ก็จะไม่เที่ยง ต้องทนอยู่ และไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง 
  • จึงทำให้เห็นได้ว่าสิ่งที่จะมาเป็นตัวตนของเรา ไม่ว่าจะเป็นร่างกายหรือจิตใจก็ตามนั้นแท้จริงมันไม่สามารถจะมีได้เลย ส่วนสิ่งที่มีอยู่ก็เป็นเพียง “สังขาร” หรือสิ่งที่ถูกปรุงแต่งหรือสร้างสรรค์ขึ้นมาตามธรรมชาติเท่านั้น.

๒๓. เห็นแจ้งอริยสัจ ๔ 
  • เมื่อเราเข้าใจอย่างถูกต้องแล้วว่าแท้จริงตัวเราหรือของใครๆไม่มีแล้ว ก็เรียกว่ามีปัญญาขั้นคิดพิจารณาจนเกิดความเข้าใจ ขึ้นมาแล้ว ต่อจากนั้นก็ต้องมีการทดลองปฏิบัติโดยใช้จิตที่มีสมาธิ (จากการฝึก) มากำจัดความรู้สึกว่ามีตัวเรานี้ให้ดับหายไป 
  • และถ้าทำได้ความทุกข์ที่กำลังเกิดอยู่ก็จะดับหายไป หรือที่ยังไม่เกิดก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งก็จะทำให้จิตสงบ เยือกเย็น ปลอดโปร่ง แจ่มใส เบาสบายอย่างที่สุด (นิพพาน) พร้อมทั้งจะเกิดความรู้ขึ้นมาเองว่านี่คือความดับลงของทุกข์ที่แท้จริงอีกด้วย

๒๔. พระอริยบุคคล 
  • พระอริยบุคคล หมายถึง บุคคลที่ประเสริฐ ซึ่งพระอริยบุคคลนี้มีอยู่ ๔ ประเภท อันได้แก่ 
    • ๑. พระโสดาบัน คือผู้ที่เห็นแจ้งอริยสัจ ๔ แล้ว สามารถดับทุกข์ได้จริงแล้วในบางครั้ง 
    • ๒. พระสกิทาคามี คือผู้ที่ปฏิบัติสูงขึ้นจนสามารถดับทุกข์ได้ทุกครั้งที่เผลอให้ทุกข์เกิดขึ้นมาได้ตามต้องการ 
    • ๓. พระอนาคามี คือผู้ที่ปฏิบัติสูงขึ้นจนแทบไม่มีทุกข์เหลือมาให้ดับอีกแล้ว 
    • ๔. พระอรหันต์ คือผู้ที่ปฏิบัติสูงขึ้นจนไม่มีทุกข์กลับมาเกิดอีกอย่างถาวร
    • ผู้ที่เริ่มเห็นแจ้งอริยสัจ ๔ นั้นจะยังเผลอให้ความทุกข์เกิดขึ้นได้บ่อยๆ เพราะสันดานหรือจิตใต้สำนึกยังคงมีความรู้สึกว่ามีตัวตนอยู่ จะต้องมีการปฏิบัติที่สูงขึ้นและต่อเนื่องมั่นคง จนทำให้ความรู้สึกว่ามีตัวตนเลือนหายไปจากสันดานหรือจิตใต้สำนึก(ไม่มีสัญชาตญาณของความมีตัวตน) จิตก็จะไม่มีความทุกข์อย่างถาวรได้.

๒๕. จิตว่างคืออริยมรรค 
  • ในการปฏิบัติตามหลักอริยสัจ ๔ นี้ก็สรุปอยู่ที่การมีศีลเป็นพื้นฐานอยู่ก่อน และก็มีการฝึกสมาธิประกอบอยู่ด้วย แล้วก็ต้องเรียนรู้จนเข้าใจว่าแท้จริงมันไม่มีตัวเราด้วย ซึ่งนี่คือพื้นฐานที่จำเป็นอย่างยิ่ง.
  • ทีนี้เวลาจะนำมาใช้งานก็ต้องคอยระวังจิตอยู่เสมออย่าให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราหรือตัวตนใดๆเกิดขึ้นมา ซึ่งเรียกว่าทำ “จิตให้ว่าง”จากกิเลส หรือจากตัวตน และเมื่อทำได้ ไม่ว่าเราจะปฏิบัติหน้าที่การงานใดๆอยู่ก็ตาม หรือจะเกิดอะไรที่ไม่น่ายินดีอย่างที่สุดขึ้นมาก็ตาม จิตก็จะไม่เกิดความทุกข์ใดๆขึ้นมา ซึ่งนี่ก็คือลักษณะของนิพพานที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันของเรา ถ้าปฏิบัติได้เป็นครั้งคราวก็ยังเป็นเพียงนิพพานชนิดชั่วคราว แต่ถ้าปฏิบัติได้ถาวรก็จะเป็นนิพพานชนิดถาวรได้

บทที่ ๑๔ ธรรมประยุกติ

บทที่ ๑๔ ธรรมประยุกติ

๑. อธิปไตย ๓ 
ธรรมชาติของมนุษย์จะมีความเห็นและความเชื่อจากลักษณะ ๓ ประการนี้คือ 
  • ๑. อัตตาธิปไตย คือมีตนเป็นใหญ่ 
  • ๒. โลกาธิปไตย คือมีโลกเป็นใหญ่ 
  • ๓. ธรรมาธิปไตย คือมีธรรมะเป็นใหญ่
  • อัตตาธิปไตย ก็คือเอาความเห็นของตนเป็นใหญ่ เชื่อมั่นตนเอง ส่วนโลกาธิปไตยก็คือเชื่อตามชาวโลก หรือตามคนอื่น ซึ่งทั้งสองนี้ก็มีทางที่จะเป็นความเห็นหรือความเชื่อที่ผิดได้ จะต้องเป็นธรรมาธิปไตย คือเชื่อตามหลักความจริงที่ปรากฏ จึงจะเป็นความเห็นที่ถูกต้อง


๒. กำลัง ๘ 
พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงเรื่องสิ่งที่มีกำลังในการเอาชนะไว้ดังนี้ 
  • ๑. เด็กมีการร้องไห้เป็นกำลัง 
  • ๒. สตรีมีความโกรธเป็นกำลัง 
  • ๓. โจรมีอาวุธเป็นกำลัง 
  • ๔. พระราชามีอิสริยะ(ความเป็นใหญ่)เป็นกำลัง 
  • ๕. คนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง 
  • ๖. บัณฑิตมีการเพ่งโทษตนเองเป็นกำลัง 
  • ๗. ผู้สดับมากมีการพิจารณาเป็นกำลัง 
  • ๘. สมณะพราหมณ์มีขันติเป็นกำลัง


๓. วาจาสุภาษิต 
หลักในการพูดนั้นพระพุทธองค์ทรงวางหลักไว้ดังนี้ 
  • ๑. คำพูดใดไม่จริง ไม่แท้และไม่เป็นประโยชน์ ไม่ควรพูด 
  • ๒. คำพูดใด ไม่จริง ไม่แท้ แต่เป็นที่รักที่พอใจของผู้ฟัง ก็ไม่ควรพูด 
  • ๓. คำพูดใด จริงแท้ แต่ไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่ควรพูด 
  • ๔. คำพูดใดจริงแท้และเป็นประโยชน์ แต่ไม่เป็นที่รักของผู้ฟัง จะต้องรู้เวลาที่จะพูด 
  • ๕. คำพูดใดจริงแท้และเป็นประโยชน์ และเป็นที่รักที่พอใจของผู้ฟังจึงสมควรพูด


๔. การปฏิบัติเกี่ยวกับเวลา 
บุคคลทั่วไปนั้นมักจะเฝ้าอาลัยอาวรณ์กับอดีต และวิตกกังวลกับอนาคต แต่พระพุทธองค์ทรงสอนว่า 
  • ๑. อย่าอาลัยอาวรณ์กับอดีต เพราะมันไม่สามารถย้อนกลับมาได้ 
  • ๒. และอย่าวิตกกังวลกับอนาคต เพราะมันยังมาไม่ถึง 
  • ๓. จงทำปัจจุบันให้ดีที่สุด แล้วอนาคตจะจัดตัวของมันเอง


๕. สิ่งที่ควรพิจารณาเนืองๆ 
พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราหมั่นพิจารณาตนเองอยู่เสมอๆว่า 
  • ๑. วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่
  • ๒. เมื่อเราทำสิ่งใดไว้เราย่อมจะได้รับผลจากการกระทำนั้น 
  • ๓. เรามีคุณความดีอะไรที่จะเอาไว้อวดคนอื่นบ้างหรือไม่
  • ๔. เรามีอะไรที่จะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นบ้างหรือไม่


๖. ผู้พูดปดทั้งๆที่รู้ 
  • พระพุทธองค์ทรงสอนว่า “ผู้ที่ยังพูดโกหกอยู่ทั่งๆที่รู้ การที่จะไม่ทำความชั่วอื่นอีกเป็นไม่มี” คือคนที่ชอบพูดโกหกนั้น เขาย่อมพูดเพื่อเอาตัวรอด หรือเพื่อประโยชน์แก่ตนเองโดยไม่สนใจผู้อื่น ดังนั้นการพูดโกหก จึงเป็นเครื่องชี้ว่าคนพูดนั้นมีการทำสิ่งที่ไม่ดีงาม(ชั่ว)เอาไว้ หรือจะมีการทำสิ่งที่ไม่ดีงาม(ชั่ว)อีกอย่างแน่นอนในอนาคต ดังนั้นเราจึงควรระมัดระวังคนเหล่านี้ให้ดี.


๗. การศึกษาให้แจ่มแจ้ง 
  • ในการศึกษาสิ่งใดนั้น เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ซึ่งหลักในการศึกษานั้นก็คือ เราจะต้อง ศึกษาให้ “ลึกและรอบด้าน” คือศึกษาให้ลึกที่สุด และรอบด้าน หรือศึกษาให้หมดและรวมทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วย เหมือนกับการศึกษาสระน้ำ ที่ต้องรู้ถึงความลึกและความกว้างของสระน้ำให้หมด จึงจะรู้จักสระน้ำนั้นอย่างแจ่มแจ้งแท้จริง

บทที่ ๑๓ ศาสนาโลก

บทที่ ๑๓ ศาสนาโลก

ศาสนาฮินดู(พราหมณ์)
  • ๑. กำเนิด ศาสนาฮินดูเป็นศาสนาเก่าแก่ของชาวอารยัน กำเนิดขึ้นที่ประเทศอินเดียก่อนศาสนาอื่นๆ โดยมีพราหมณ์เป็นผู้สั่งสอนและประกอบพิธีกรรมจึงเรียกกันว่าเป็นศาสนาของพราหมณ์ หรือศาสนาพราหมณ์.
  • ๒. สิ่งเคารพสูงสุด ศาสนาฮินดูเป็นศาสนาประเภทเทวนิยมคือเคารพยอมรับเรื่องเทพเจ้าเป็นสิ่งสูงสุด โดยเทพเจ้า ๓ องค์ที่ชาวฮินดูให้ความเคารพสูงสุดอันได้แก่ 
    • ๑. พระพรหม ที่เป็นเทพเจ้าผู้สร้างหรือให้กำเนิดทุกสิ่งในเอกภพขึ้นมา 
    • ๒. พระวิษณุ หรือพระนารายณ์ ที่เป็นเทพเจ้าผู้ปกป้องรักษา 
    • ๓. พระอิศวร หรือพระศิวะ ที่เป็นเทพเจ้าผู้ทำลาย
    • เทพเจ้าทั้ง ๓ องค์นี้รวมเรียกว่า ตรีมูรติ ที่เป็นเทพเจ้าสูงสุด แต่ชาวฮินดูยังนับถือเทพเจ้ารองๆลงมาอีกมากประมาณ ๓๐๐ ล้างองค์.
  • ๓. ศาสดา ศาสนาฮินดูไม่มีศาสดาเพราะสืบทอดกันมานานจนไม่รู้ว่าใครเป็นผู้สั่งสอนคนแรก แต่มีฤๅษีและพราหมณ์เป็นผู้สั่งสอนและพัฒนาหลักคำสอนสืบต่อกันมาเรื่อยๆ
  • ๔. คัมภีร์ คัมภีร์ของศาสนาฮินดูเก่านั้นมีอยู่ ๔ คัมภีร์คือ 
    • ๑. คัมภีร์ฤคเวท เป็นคัมภีร์สำหรับใช้สวดสรรเสริญพระเจ้า 
    • ๒. คัมภีร์ยชุรเวท เป็นคัมภีร์รวบรวมบทร้อยกรองใช้ในพิธีบูชายัญในศาสนา 
    • ๓. คัมภีร์สามเวท เป็นคัมภีร์รวบรวมบทสวดมนต์สำหรับประกอบพิธีกรรมต่างๆของประชาชนทั่วไป 
    • ๔. คัมภีร์อาถรรพเวท เป็นคัมภีร์เวทมนต์คาถา
    • คัมภีร์เหล่านี้เรียกว่า คัมภีร์พระเวท แต่ตอมาได้เกิดคัมภีร์อุปนิษัทขึ้นอีก ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่กล่าวถึงเรื่องธรรมชาติของจักรวาลและวิญญาณมนุษย์ อันส่งผลกระทบถึงความคิดและการดำเนินชีวิตของชาวอินเดียอย่างมาก.
  • ๕. สรุปหลักคำสอน คำสอนสำคัญในคัมภีร์อุปนิษัทนั้นสรุปได้ ๕ เรื่องคือ 
    • ๑. ปรมาตมัน หรือ พรหม คือวิญญาณหรือตัวตนดั้งเดิม หรือใหญ่ ที่เที่ยงแท้ถาวร เป็นหนึ่งและอมตะ 
    • ๒. อาตมัน หรือชีวาตมัน คือส่วนย่อยของปรมาตมันหรือพรหมที่แยกออกมาอยู่ในแต่ละบุคคล 
    • ๓. การกลับเข้าไปรวมกับปรมาตมันหรือพรหมได้นั้นคือการพ้นทุกข์ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก 
    • ๔. ชีวาตมันจะกลับไปรวมกับปรมาตมันได้นั้น ผู้นั้นจะต้องบำเพ็ญกิริยา และ ประกอบพิธีต่างๆจนบรรลุถึงโมกษะ(หลุดพ้นจากอัตตา) แล้วชีวาตมันก็จะกลับไปรวมกับปรมาตมันได้. 
    • ๕. เรื่องกฎแห่งกรรม คือสอนว่ากรรมเป็นเครื่องกำหนดของชีวิตในภพหน้า กล่าวคือใครทำสิ่งใดย่อมได้สิ่งนั้นในชาติหน้า ซึ่งนี่เป็นจุดที่ทำให้เกิดความเชื่อเรื่องชาติก่อน ชาติหน้า เรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า ผี เทวดา นางฟ้า เป็นต้นขึ้นมา.
  • ๖. การกลืนพุทธศาสนาของศาสนาฮินดู คำสอนในคัมภีร์อุปนิษัทนี้เองที่ทำให้เกิดความเชื่อเรื่องวิญญาณเวียนว่ายตายเกิด และเรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า ผี สาง เทวดา ต่างๆขึ้นมา รวมทั้งเรื่องอาวตาลของบพระนารายณ์ที่เกิดมาเพื่อช่วยโลก เช่นอวตารมาเป็นพระรามเพื่อฆ่ายักษ์ หรือแม้เรื่องพระนารายณ์อวตารมาเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อสอนให้คนตกนรกมากๆเพราะสวรรค์เต็มหมดแล้ว เป็นต้น ซึ่งชาวฮินดูหรือผู้ที่ไม่รู้จักพุทธศาสนาอย่างถูกต้องก็จะเชื่อกันว่าพุทธศาสนานั้นแยกออกมาหรือเป็นเพียงสาขาหนึ่งของศาสนาฮินดูเท่านั้น ซึ่งนับว่านี่เป็นอุบายอันแยบยลที่จะกลืนหรือทำลายพุทธศาสนาที่มีอยู่ในอินเดียขณะนั้นให้หายสาบสูญไปได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นจึงมีเรื่องต่างๆของฮินดูอยู่เต็มไปหมดในคำสอนของพุทธศาสนาที่แม้จะสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันก็ตาม.
  • ๗. นิกาย นิกายใหญ่ๆของศาสนาฮินดูมีอยู่ ๖ นิกายคือ 
    • ๑. นิกายไวษณวะ ซึ่งนับถือพระวิษณุเป็นเทพเจ้าสูงสุด 
    • ๒. นิกายไศวะ ซึ่งนับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด (พวกนี้เรียกว่าพวกลึงค์ยัติซึ่งนิยมพกลึงค์เล็กๆไว้ที่เอว) 
    • ๓. นิกายศักดา ซึ่งพวกนี้นับถือลักษณะสตรีเพศคือนับถือมเหสีของพระวิษณุ คือเจ้าแม่กาลี ใรฝ่ายที่ดุร้าย 
    • ๔. นิกายคณพัทยะ ซึ่งนับถือพระคเณศที่มีเศียรเป็นช้าง 
    • ๕. นิกายสรภัทธะ ซึ่งนับถือบูชาพระอาทิตย์เป็นเทพเจ้าสูงสุด 
    • ๖. นิกายสมารธะ ซึ่งเป็นนิกายใจกว้างนับถือเทพเจ้าทุกองค์.
  • ๘. จุดหมายสูงสุด จุดหมายสูงสุดของศาสนาฮินดูก็คือการได้กลับไปรวมอยู่กับพรหมหรือปรมาตมัน ซึ่งไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดให้เป็นทุกข์อีกต่อไป ส่วนจุดหมายรองลงมาก็คือการได้เกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์เสพสุขอยู่กับนางฟ้ามากมายนานๆโดยไม่ต้องทำงาน.
  • ๙. ความเชื่อและหลักปฏิบัติ ชาวอินเดียวจะมีการแบ่งผู้คนออกเป็นพวกๆหรือวรรณะตามความเชื่อจากศาสนาฮินดูคือ 
    • ๑. วรรณะพราหมณ์เป็นวรรณะสูงสุด ได้แก่พวกผู้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ 
    • ๒. วรรณะกษัตริย์ ได้แก่พวกกษัตริย์ผู้ปกครองบ้านเมือง 
    • ๓. วรรณะแพศย์ ได้แก่พวกพ่อค้า ช่างฝีมือ 
    • ๔. วรรณะศูทร ได้แก่พวกคนใช้
    • ชาวอินเดียจะยึดถือเรื่องวรรณะกันมาก ถ้าใครแต่งงานกันต่างวรรณะ ลูกออกมาจะเป็นพวกจัณฑาล ซึ่งเป็นคนชั้นต่ำสุดที่สังคมรังเกียจ ส่วนวรรณะพราหมณ์ที่ถือว่าเป็นวรรณะสูงสุดเพราะเขาถือว่าพราหมณ์เกิดมาจากปากพรหม.
    • หลักปฏิบัติของศาสนาฮินดูนั้นก็มีหลักศีลธรรมอยู่มากมาย แต่เน้นไปที่การบูชาเทพเจ้าที่ตนนับถือ และยังมีความอดทนที่จะรับความทุกข์ยาก โดยไม่คิดจะปรับปรุงแก้ไข 
    • เพราะถือว่านี่เป็นกรรมของตนหรือเป็นพรหมลิขิตไม่สามารถหลีกหนีได้ ไม่มีใครจะมาช่วยเหลือได้ จึงทำให้เกิดความนิ่งดูดายหรือใจดำไม่ค่อยจะมีใครช่วยเหลือใคร 
    • เพราะถือว่าเป็นกรรมของเขาเองที่ทำไว้ในชาติก่อน ส่วนคนที่ไปช่วยก็ช่วยเพราะอยากให้ตนมีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ได้ช่วยเพราะความสงสารอย่างแท้จริง .
  • ๑๐. ประเทศที่นับถือ ปัจจุบันศาสนาฮินดูจะมีผู้คนนับถือมากเฉพาะในประเทศอินเดีย และยังมีผู้ที่ทรมานร่างกายหรือบำเพ็ญทุกรกิริยาเพื่อให้บรรลุถึงโมกษะอยู่ด้วย แต่ก็มีผู้คนนับถือประปรายอยู่ในประเทศต่างๆทั่วโลก และนิยมเรียกกันว่าศาสนาพราหมณ์ ซึ่งแม้พุทธศาสนาในประเทศต่างๆก็มีหลักของศาสนาพราหมณ์ผสมผสานอยู่ด้วยทั้งสิ้น
  • ๑๑. ประเพณี ศาสนาฮินดูมีประเพณีต่างๆมากมาย ส่วนมากเป็นประเพณีบูชาเทพเจ้า เช่นการฆ่าสัตว์บูชายัญต่อเจ้าแม่กาลี ซึ่งบางครั้งก็มีการฆ่ามนุษย์เพื่อบูชายัญเพราะเชื่อว่าเทพเจ้าจะพอในและดลบันดาลให้ความหายนะหรือโรคระบาดหายไปได้.
  • ๑๒. ผู้สืบทอด ศาสนาฮินดูจะมีพราหมณ์ เป็นผู้ผูกขาดการประกอบพิธี และทำหน้าที่สั่งสอน และจะมีการเรียนพระเวทหรือศึกษาคัมภีร์พระเวท ถ้าใครเรียนจบถือว่าเก่งมาก จนเกิดประเพณีว่าผู้หญิงจะต้องไปสู่ขอผู้ชายมาแต่งงานเพราะว่าผู้ชายมีค่าสูงส่ง โดยผู้จบพระเวทจะสามารถประกอบพิธีทำให้มีรายได้งาม อย่างเช่นถ้าใครจะให้ญาติที่ตายไปแล้วได้ขึ้นสวรรค์จะต้องนำทรัพย์หรือของมีค่า เช่นโค ข้าวเปลือกมาให้พราหมณ์มากๆ เพื่อพราหมณ์จะได้สวดส่งวิญญาณของญาตินั้นให้ขึ้นสวรรค์ ถ้าใครยากจนก็ไม่มีทางได้ขึ้นสวรรค์ .
  • ๑๓. วันสำคัญ เช่น วันสงกรานต์ เป็นต้น (ยังไม่มีข้อมูล)
  • ๑๔. สถานที่สำคัญ สถานที่สำคัญแห่งหนึ่งอยู่ที่เมืองพาราณสี ที่ตั้งอยู่ที่ฝั่งของแม่น้ำคงคาที่เรียกว่า กาสี ซึ่งคนที่เคร่งครัดในศาสนาฮินดูทุกคนจะต้องดิ้นรนมาตายที่วงกลมศักดิ์สิทธิ์ที่มีรัศมีประมาณ ๑๐ ไมล์จากจุดศูนย์กลางของตัวเมืองที่เรียกว่าปัญจะโกสี 
  • ซึ่งผู้คนจะมาแสวงบุญกันที่นี่ให้มากครั้งเท่าที่จะทำได้ และลงอาบนำในแม่น้ำคงคาที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ชำระล้างบาปได้ ดังนั้นเมื่อมีคนตายจึงนิยมนำมาเผาที่บริเวณนี้ 
  • และทิ้งศพลงแม่น้ำคงคา จนทำให้เมืองนี้เป็นเมืองที่เศร้าโศกตลอดกาล เพราะมีแต่งานศพและควันลอยโขมงอยู่ตลอดเวลา
  • สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่งคือเมืองมธุรา ที่เป็นเมืองสำคัญศักดิ์สิทธิ์ของนิกายไวษวะที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม้น้ำยมนา ที่ถือว่าเป็นบ้านเกิดของพระกฤษณะ 
  • เมื่อถึงเทศกาลจะมีนักแสวงบุญมาที่เมืองนี้และมีพิธีฟ้อนรำให้เกียรติแก่พระกฤษณะ ซึ่งนอกจากสถานที่สำคัญทั้งสองแห่งนี้แล้วยังมีศูนย์กลางทางศาสนาอีกหลายแห่ง.

บทที่ ๑๒ ภาษาบาลีและพุทธภาษิต



บทที่ ๑๒ ภาษาบาลีและพุทธภาษิต

ภาษาบาลี 
หลักการอ่านภาษาบาลีมีดังนี้ 
  • ๑. พยัญชนะตัวใดโดๆ ไม่มีสระกำกับอยู่ ให้อ่านออกเสียงสระ อะ (ภาษาบาลีไม่มีสระ อะ) เช่น น = นะ 
  • ๒. พินธุ ( . ) ที่อยู่ใต้พยัญชนะใด พยัญชนะตัวนั้นจะเป็นตัวสะกดของตัวหน้า เช่น สนฺ = สัน 
  • ๓. นฤคหิต ( ํ ) ใช้แทนตัวสะกดแม่กง (ง) เช่น ต ํ = ตัง , ติ ํ = ติง 
  • เช่น นตฺ ถิ สนฺติ ปรมํ สุขํ อ่านว่า นัตถิ สันติ ปะระมัง สุขัง.

พุทธภาษิต
  • อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ. - ตนแล เป็นที่พึ่งของตน.
  • อตฺตานํ ทมยนฺติ สุพฺพตา.- ผู้ประพฤติดี ย่อมฝึกตน.
  • อตฺตนา โจทยตฺตานํ. - จงเตือนตนด้วยตนเอง.
  • กมฺมุนา วตฺตตี โลโก. - สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม.
  • อกตํ ทุกฺกฏํ เสยฺโย. - ความชั่ว ไม่ทำเสียเลยดีกว่า.
  • นตฺถิ โลเก รโห นาเส ปาปกมฺมํ ปกุพฺพโต. -ชื่อว่าที่ลับของผู้ทำบาปกรรม ไม่มีในโลก.
  • กตญฺจ สุกตํ เสยฺโย. - ความดี ทำนั่นแล ดีกว่า.
  • น หิ สาธุ โกโธ. -ความโกรธไม่ดีเลย.
  • โกธํ ฆตฺวา น โสจติ.-ฆ่าความโกรธได้ อยู่เป็นสุข.
  • ขนฺติ หิตสุขาวหา.-ความอดทน นำมาซึ่ประโยชน์สุข.
  • จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ. - การฝึกจิตเป็นความดี. ชยํ เวรํ ปสวติ. -ผู้นะย่อมก่อเวร.
  • ทุกฺขํ เสติ ปราชิโต.-ผู้แพ้ ย่อมอยู่เป็นทุกข์.
  • ททมาโน ปิโย โหติ. -ผู้ให้ ย่อมเป็นที่รัก.
  • ธมฺมจารี สุขํ เสติ.-ผู้ประพฤติธรรม อยู่เป็นสุข.
  • โลโก ปตฺถมฺ ภิกา เมตฺตา.-เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก.
  • สุโข ปญฺญา ปฏิลาโภ.-ความได้ปัญญา ให้เกิดสุข.
  • ปญฺญาว ธเนน เสยฺโย.-ปัญญาเทียวประเสริฐกว่าทรัพย์.
  • สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย.-การสั่งสมบุญ นำสุขมาให้.
  • ทุกฺโข ปาปสฺส อุจฺจโย.-ความสั่งสมบาป นำทุกข์มาให้.
  • สุวิชาโน ภวํ โหติ.-ผู้รู้ดี เป็นผู้เจริญ.
  • ทุวิชาโน ปราภโว.-ผู้รู้ชั่ว เป็นผู้เสื่อม.
  • มาตา มิตฺตํ สเก ฆเร.-มารดาเป็นมิตรในเรือนของตน.
  • น หิ มุญฺเจยฺย ปาปิกํ.-ไม่ควรเปล่งวาจาชั่วเลย.
  • วาจํ มุญฺเจยฺย กลฺยาณิ.-ควรเปล่งวาจางาม.
  • วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ.-คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร.
  • อเวเรน จ สมฺมนฺติ.-เวรย่อมระงับด้วยไม่มีเวร.
  • น สงฺคโม ปาปเชเนน เสยฺโย. -สมาคมกับคนชั่ว ไม่ดีเลย.
  • นิหียติ ปุริโส นิหีนเสวี.-ผู้คบคนเลว ย่อมเลวลง.
  • สติมา สุขเมธติ. -คนมีสติ ย่อมรับความสุข.
  • สีลํ โลเก อนุตฺตรํ.-ศีลเป็นเยี่ยมในโลก.
  • อสาธุ สาธุนา ชิเน.-พึงชนะคนไม่ดีด้วยความดี

บทที่ ๑๑ มารยาทชาวพุทธ ศาสนพิธีและวันสำคัญทางศาสนา

บทที่ ๑๑ มารยาทชาวพุทธ ศาสนพิธีและวันสำคัญทางศาสนา


๑. การปฏิสันถาร
  • การปฏิสันถารคือการต้อนรับแขกผู้มาเยือน ซึ่งทำได้หลายวิธีคือ ด้วยวาจาไพเราะ ให้ที่พักอาศัย และแสดงน้ำใจต่อกัน เพื่อให้ผู้มาเยือนพอใจ

๒. การแต่งกาย
  • ควรแต่งกายสุภาพเรียบร้อยเหมาะสมกับวัย ไม่ทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียงของประเทศชาติบ้านเมือง เช่นนุ่งกางเกงในออกนอกบ้านเป็นต้น

๓. การรับประทานอาหาร
  • ควรมีระเบียบเรียบร้อย ประหยัด มีอนามัย อย่าทำให้เกิดความน่ารังเกียจแก่ผู้ร่วมรับประทานอาหารด้วย เช่นทำมูมมาม ทำหกเลอะเทอะ ทำเสียงดังซูดซ๊าด หรือกินอย่างตายอดตายอยากมาก่อน

๔. การไหว้(วันทา)
  • ๑. ไหว้พระรัตนตรัย คือยกมือประนมให้ปลายนิ้วจรดหน้าผาก ปลายหัวแม่มือจรดหว่างคิ้ว ถ้าเป็นหญิงยืนไหว้ให้สืบเท้าข้างใดข้างหนึ่งไปข้างหน้าเล็กน้อย พร้อมทั้งน้อมตัวไหว้(ถอนสายบัว) 
  • ๒. ไหว้บิดามารดา ครูอาจารย์ คือให้ยกมือประนม ปลายนิ้วชี้จรดระหว่างคิ้ว ปลายหัวแม่มือจรดปลายจมูก ถ้าเป็นหญิงยืนไหว้ให้สืบเท้าข้างใดข้างหนึ่งไปข้างหน้าเล็กน้อย พร้อมทั้งน้อมตัวไหว้ 
  • ๓. ไหว้ผู้ที่อาวุโส หรือผู้ที่เคารพทั่วๆไป คือยกมือประนมให้ปลายนิ้วชี้จรดปลายจมูก ปลายหัวแม่มือจรดปลายคาง 
  • ๔. ไหว้คนเสมอกัน คือยกมือประนมเสมออก จะค้อมศีรษะลงเล็กน้อยหรือไม่ก็ได้ ซึ่งการรับไหว้จากคนอื่นก็ทำอย่างนี้ 
๕. การกราบ(อภิวาท)
  • การกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ คือชายนั่งคุกเข่า ส่วนหญิงนั่งทอดปลายเท้าแล้วนั่งทับเท้า การกราบชายให้เข่า ๒ มือ ๒ หน้าผาก ๑ จรดพื้น และแบมือให้ห่างกันเล็กน้อยพอหน้าผากจะลงได้ ให้ข้อศอกต่อเข่า ส่วนหญิงหมอบให้ขาชิดกัน ข้อศอกคร่อมเข่า ไม่ต้องต่อเข่าแบบชาย

๖. มารยาทในห้องเรียนหรือห้องบรรยาย
  • ๑. แต่งตัวเรียบร้อย 
  • ๒. ไม่คุย ไม่เล่น ไม่ดื่ม 
  • ๓. ตั้งใจฟัง ไม่หลับ 
  • ๔. ควรยกมือก่อนถาม 
  • ๕. รักษากติการะเบียบ

๗. มารยาทในที่ประชุม
  • ๑. แต่งกายสุภาพ 
  • ๒. อย่าพูดสอด 
  • ๓. รักษามารยาท 
  • ๔. ทำใจให้กว้าง 
  • ๕. ไม่พูดเรื่องส่วนตัว 
  • ๖. ขออนุญาตก่อนพูด 
  • ๗. ขออนุญาตก่อนถ้าจะเลิกก่อน

๘. มารยาทในการไปเยี่ยมผู้อื่น
  • ๑. ควรหาโอกาสไปเยี่ยม 
  • ๒. ก่อนเข้าบ้านหรือห้องควรให้สัญญาณ 
  • ๓. ควรทำความเคารพเจ้าของบ้านก่อน 
  • ๔. ไม่ควรอยู่นานเกิน 
  • ๕. ไม่ควรนำคนที่ไม่รู้จักไปด้วย 
  • ๖. เมื่อจะกลับให้บอกลา

๙. มารยาทในการต้อนรับ
  • ๑. เมื่อแขกมาเยือน เจ้าของบ้านควรต้อนรับด้วยอาการยิ้มแย้ม 
  • ๒. เชิญแขกนั่ง หาน้ำต้อนรับ 
  • ๓. ไม่ควรถามแขกว่ามีธุระอะไร 
  • ๔. อย่าทำอะไรที่ดูเหมือนไล่แขกทางอ้อม 
  • ๕. เมื่อแขกลากลับควรเดินไปส่ง

๑๐. มารยาทในการไปงานมงคล
  • ๑. แต่งกายเหมาะสมตามงาน 
  • ๒. ควรไปถึงก่อนเวลา 
  • ๓. ไม่ควรสนทนาเรื่องไม่เหมาะสม 
  • ๔. ควรให้เกียรติเจ้าภาพ 
  • ๕. เมื่อจะกลับควรลาเจ้าภาพก่อน

๑๑. มารยาทในการไปงานศพ
  • ๑. แต่งตัวตามประเพณี คือชุดดำ หรือชุดพระราชทาน หรือเครื่องแบบข้าราชการ นักเรียน 
  • ๒. ไม่ควรพูดคุยสนุกสนาน 
  • ๓. ไม่ควรรดน้ำศพผู้อาวุโสน้อยกว่า 
  • ๔. เมื่อแขกผู้มีเกียรติจุดไฟ เราควรยืนพร้อมกันด้วยความสงบ

๑๒. มารยาทในการสนทนา
  • ๑. ใช้วาจาและกิริยาที่สุภาพ 
  • ๒. ให้โอกาสคนอื่นพูดบ้าง 
  • ๓. อย่าเล่าเรื่องตนเองมากเกินไป 
  • ๔. อย่าอวดตน อย่านินทาผู้อื่น 
  • ๕. อย่าบ่นถึงเคราะห์กรรมของตนเองมากเกินควร 
  • ๖. อย่าเอาความลับคนอื่นมาเปิดเผย 
  • ๗. อย่าขัดคอคนอื่น
  • ๘. อย่าหยอกล้อกันจนเกินควร

๑๓. มารยาททั่วไปในที่สาธารณะ
  • ๑. อย่าเดินเบียดคนอื่น 
  • ๒. ควรกล่าวขอโทษถ้าบังเอิญไปล่วงเกินผู้อื่น 
  • ๓. ควรกล่าวขอบคุณเมื่อผู้อื่นทำอะไรให้ 
  • ๔. อย่าสูบบุหรี่และส่งเสียงดัง 
  • ๕. เคารพกฎของสถานที่ที่กำหนดไว้ 
  • ๖. ช่วยกันรักษาความสะอาด 
  • ๗. ไม่แสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสม


ศาสนพิธี 
พิธีกรรมของพุทธศาสนาที่พบเห็นได้บ่อยก็ได้แก่ 
  • ๑. พิธีอุปสมบท ซึ่งเป็นการ บวชเป็นพระภิกษุและถือศีล ๒๒๗ ข้อ
  • ๒. พิธีพรรพชา ซึ่งเป็นการบวชเป็นสามเณรและถือศีล ๑๐ ข้อ 

ส่วนประเพณีของชาวพุทธที่พบเห็นได้บ่อยก็ได้แก่ 
  • ๑. การทอดกฐิน คือการเอาผ้าไตรจีวร(ผ้านุ่งผ้าห่มเป็นชุด)ไปถวายพระสงฆ์ช่วงหลังจากออกพรรษาแล้วประมาณ ๑ เดือน 
  • ๒. ทอดผ้าป่า คือการเอาผ้าเป็นผืนไปถวายพระสงฆ์ จะถวายเมื่อไรก็ได้ 
  • ๓. การทำบุญในวันสำคัญทางพุทธศาสนาต่างๆ เป็นต้น.

วันสำคัญทางศาสนา 
วันสำคัญทางพุทธศาสนาก็ได้แก่ 
  • ๑. วันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ,ตรัสรู้,ปรินิพพาน 
  • ๒. วันอาสาฬหบูชา ซึ่งเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครั้งแรก 
  • ๓. วันมาฆบูชา ซึ่งเป็นวันที่พระอริยสงฆ์จำนวนมากมาประชุมพร้อมกัน 
  • ๔. วันเข้าพรรษา ซึ่งเป็นวันที่พระสงฆ์จะอยู่ประจำที่เป็นเวลา ๓ เดือน 
  • ๕. วันออกพรรษา ซึ่งเป็นวันที่พระสงฆ์ครบกำหนดจำพรรษา

บทที่ ๑๐ พระสงฆ์และการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อพระสงฆ์


บทที่ ๑๐ พระสงฆ์และการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อพระสงฆ์

๑. พระรัตนตรัย 
รัตนตรัย แปลว่า แก้ว ๓ ประการ คือหมายถึง สิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง ๓ อย่าง อันได้แก่ 
  • ๑. พระพุทธ คือพระพุทธเจ้า 
  • ๒. พระธรรม คือคำสอนของพระพุทธเจ้า 
  • ๓. พระสงฆ์ คือผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

๒. พระสงฆ์ ๒ ประเภท
     คำว่า ภิกษุ หมายถึง ผู้ขออาหาร ซึ่งภิกษุนั้นจะนับจำนวนเป็น “รูป” เช่นภิกษุ ๑ รูป แต่ถ้ามีภิกษุมาประชุมอยู่ด้วยกันตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปจะเรียกว่า สงฆ์ (พระสงฆ์) ซึ่งพระสงฆ์นี้ก็มีแยกได้ ๒ ประเภท อันได้แก่
  • ๑. สมมติสงฆ์ คือพระสงฆ์โดยสมมติ 
  • ๒. อริยสงฆ์ คือเป็นพระสงฆ์โดยคุณธรรม
  • สมมติสงฆ์นั้นก็คือผู้ ที่ได้รับการบวชมาอย่างถูกต้องตามพระวินัย(ศีลของพระภิกษุ)เท่านั้น ส่วนอริยสงฆ์นั้นก็คือ การได้บรรลุคุณธรรมภายในจิตใจ จนทำให้เป็นพระอริยบุคคลในขั้นต่างๆขึ้นมา(ซึ่งมีอยู่ ๔ ขั้น)

๓. หน้าที่ของพระสงฆ์
พระสงฆ์นั้นเมื่อบวชมาแล้วจะมีหน้าที่อยู่ ๔ ประการ อันได้แก่ 
  • ๑. ศึกษาหลักคำสอน 
  • ๒. ปฏิบัติตามคำสอน 
  • ๓. เผยแผ่คำสอน 
  • ๔. ปกป้องคำสอน
  • จุดประสงฆ์ของการบวชเป็นภิกษุที่แท้จริงก็คือปรารถนาจะปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงความพ้นทุกข์อย่างถาวร(นิพพาน) ซึ่งก็ต้องมีการศึกษา และปฏิบัติตามคำสอนอย่างจริงจัง จึงจะบรรลุถึงจุดที่มุ่งหมาย และยังต้องมีหน้าที่สอนผู้อื่นต่อไปด้วย อีกทั้งยังต้องคอยปกป้องคำสอนเอาไว้ไม่ให้ใครมาบิดเบือนหรือทำลายได้.

๔. การปฏิบัติต่อพระสงฆ์โดยสรุป
การปฏิบัติต่อพระสงฆ์อย่างถูกต้องเหมาะสมโดยสรุปนั้นก็ได้แก่ 
  • ๑. ทางกาย โดยการปฏิบัติต่อท่านอย่างสุภาพเหมาะสม 
  • ๒. ทางวาจา โดยการพูดกับท่านอย่างสุภาพอ่อนไพเราะอ่อนโยน 
  • ๓. ทางใจ โดยการคิดแต่สิ่งที่ดีงามต่อท่าน

๕. การปฏิบัติต่อพระสงฆ์ในที่สาธารณะ
  • ๑. แสดงความเคารพ(ยกมือไหว้) 
  • ๒. ไม่นั่งเสมอหรือสูงกว่า 
  • ๓. สตรีไม่ควรนั่งม้ายาวเดียวกับพระสงฆ์ (ควรมีบุรุษนั่งครั่น) 
  • ๔. ในที่ประชุมควรให้พระสงฆ์นั่งแถวหน้า 
  • ๕. ควรสละที่นั่งแก่พระสงฆ์บนรถหรือเรือ

๖. การสนทนากับพระสงฆ์
  • ๑. ใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า “ผม” หรือ “ดิฉัน” 
  • ๒. ใช้สรรพนามแทนพระสงฆ์ว่า ท่าน, พระคุณท่าน(ถ้าเป็นญาติให้เรียกหลวงพี่,หรือหลวงพ่อ เป็นต้น ตามลำดับญาติ) 
  • ๓. เวลาพูดรับใช้คำว่า ครับ , ค่ะ 
  • ๔. เวลาพระพูดอย่าพูดสอด 
  • ๕. เวลาฟังพระเทศน์ให้ประนมมือ

๗. การถวายภัตตาหารและปัจจัย
  • ๑. เวลาใส่บาตรให้ถอดหมวก ถอดรองเท้า 
  • ๒ เวลาประเคน(ถวาย)อาหาร ควรห่างประมาณ ๑ ศอก 
  • ๓. สตรีควรถวายที่ผ้ารับประเคน 
  • ๔. หลังเที่ยงไม่ต้องประเคนอาหาร 
  • ๕. ไม่ควรถวายเงิน(ปัจจัย) ถ้าจะถวายควรใส่ซองแล้วใส่ย่าม 
  • ๖. ห้ามบอกชื่ออาหารที่จะนิมนต์(เชิญ)ไปฉันที่บ้าน 
  • ๗. ไม่เจาะจงภิกษุไปฉันภัตตาหารที่บ้าน

บทที่ ๙ การพัฒนาปัญญา

บทที่ ๙ การพัฒนาปัญญา

๑. ปัญญาคือความรอบรู้ 
ปัญญา แปลว่า ความรอบรู้ ซึ่งปัญญานี้ก็มีอยู่ ๒ ประเภท อันได้แก่
  • ๑. ปัญญาทางโลก คือความรอบรู้ในเรื่องวิชาการต่างๆของชาวโลก 
  • ๒. ปัญญาทางธรรม คือความรอบรู้ในเรื่องการดำเนินชีวิต
  • ปัญญาทางโลกจะช่วยให้เราอยู่รอดในโลกได้อย่างสุขสบายไม่เดือดร้อน ส่วนปัญญาทางธรรมจะช่วยให้เรามีชีวิตอยู่ได้โดยมีความทุกข์น้อยที่สุดได้.

๒. ปัญญาเกิดได้ ๓ ทาง
ปัญญานี้สามารถเกิดขึ้นได้ ๓ ทาง อันได้แก่ 
  • ๑. จากการฟัง หรืออ่าน 
  • ๒. จากการคิดพิจารณา 
  • ๓. จากการปฏิบัติ
  • เมื่อฟังหรืออ่านหนังสือที่มีประโยชน์ ก็เกิดความรอบรู้ที่จำเอามาได้ หรือถ้ารู้จักคิดพิจารณาให้ดี ก็เกิดความรู้ชนิดที่เป็นความเข้าใจได้ และถ้ามีการทดลองปฏิบัติจนบังเกิดผล ก็จะเกิดความเห็นแจ้ง(รู้แจ้งเห็นจริง)ซึ่งจัดเป็นความรู้สูงสุด.

๓. หลักการฟัง
การพัฒนาปัญญาก็คือการสร้างปัญญาให้เจริญมากขึ้น ซึ่งการฟังรวมทั้งการอ่านตำราเพื่อให้เกิดปัญญานี้จะต้องอยู่ในหลักการต่อไปนี้ 
  • ๑. ตั้งใจฟัง(มีสมาธิขั้นใช้งาน) 
  • ๒. ฟังหรืออ่านสิ่งที่เป็นสาระ 
  • ๓. รู้จักแยกแยะเนื้อหา และสรุปใจความสำคัญ 
  • ๔. ไม่มีอคติต่อผู้สอน(ไม่ลำเอียง)

๔. หลักการคิด
ในการคิดที่จะให้เกิดปัญญานี้จะมีหลักการคิดดังนี้ 
  • ๑. คิดอย่างตั้งใจ(มีสมาธิขั้นใช้งาน) 
  • ๒. คิดในสิ่งที่เป็นสาระ 
  • ๓. คิดด้วยเหตุด้วยผล
  • ๔. คิดอย่างเป็นระบบ 
๕. การปฏิบัติที่ทำให้เกิดปัญญา
การปฏิบัติที่ทำให้เกิดปัญญานั้น ก็แยกได้ ๒ ทางคือ 
  • ๑. ทางโลกก็คือการทดลองปฏิบัติทางวัตถุทั้งหลาย ซึ่งก็ทำให้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบความจริงทางวัตถุจนสามารถตั้งเป็นทฤษฎีทางวัตถุทั้งหลายขึ้นมา
  • ๒. ทางธรรมก็คือการปฏิบัติศีล สมาธิ และปัญญา จนบังเกิดเป็นความรู้แจ้งเห็นจริงต่อชีวิตและต่อโลก

วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558

บทที่ ๘ การฝึกสมาธิ

การฝึกสมาธิ

๑. สมาธิ
สมาธิ แปลว่า ตั้งมั่น คือหมายถึงความสงบ ตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่านของจิตใจ ซึ่งสมาธินี้จะมีอยู่ ๒ ประเภท อันได้แก่
  • ๑. สมาธิใช้งาน ซึ่งก็คือความตั้งใจตามธรรมดา 
  • ๒. สมาธิขั้นสูง ซึ่งก็คือความตั้งใจที่สูงมาก
  • ขณะที่เราตั้งใจเรียน หรือตั้งใจฟัง ตั้งใจพูด ตั้งใจคิด ตั้งใจทำอยู่นั้น เราก็มีสมาธิขั้นใช้งานอยู่แล้ว ซึ่งสมาธิใช้งานนี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการเรียน หรือการทำงานทั้งหลาย   ส่วนสมาธิขั้นสูงนั้นเป็นการฝึกจิตให้สงบนิ่งอย่างยิ่ง(ฌาน) จนไม่มีแม้ความคิดนึกใดๆอยู่เลย ซึ่งสมาธิขั้นสูงนี้ถ้าฝึกได้สำเร็จจะทำให้เรามีสมาธิใช้งานที่สมบูรณ์.

๒. ประโยชน์ของสมาธิ
ประโยชน์ของสมาธิก็ได้แก่ 
  • ๑. ทำให้เกิดความสุขสงบทันตาเห็น 
  • ๒. ทำให้มีจิตหนักแน่นมั่นคง 
  • ๓. ทำให้มีความละเอียดรอบครอบ 
  • ๔. เป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญา

๓. ศัตรูของสมาธิ
สิ่งที่มาทำลายจิตไม่ให้มีสมาธิก็คืออาการของกิเลสอ่อนๆที่เรียกว่า “นิวรณ์” ซึ่งสรุปได้ ๒ อาการ อันได้แก่ 
  • ๑. ความรู้สึกรัก, และชัง 
  • ๒. ความรู้สึกหดหู่ เซื่องซึม มึนชา 
  • ๓. ความคิดฟุ้งซ่านต่างๆนาๆ 
  • นิวรณ์แต่ละตัวนี้เองที่ผลัดเปลี่ยนกันเกิดขึ้นมาครอบงำจิตของเราอยู่เกือบจะทั้งวัน จึงทำให้จิตของเราไม่มีสมาธิในการเรียน หรือในการทำงาน จึงเรียนไม่รู้เรื่อง ทำงานไม่ได้ดี เพราะจิตเศร้าหมองขุ่นมัวและไม่สงบ ไม่ปลอดโปร่งแจ่มใส (ไม่นิพพาน) ซึ่งจัดว่าเป็นความทุกข์ชนิดอ่อนๆ.

๓. การฝึกอานาปานสติ
อานาปานสติ หมายถึง สติที่กำหนดอยู่ที่ลมหายใจเข้า-ออก ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในการฝึกสมาธิขั้นสูง โดยมีหลักการดังนี้
  • ๑. นั่งขัดสมาธิ ตั้งตัวตรง จะหลับตาหรือลืมตาก็ได้ 
  • ๒. บังคับลมหายใจให้เบาและยาวอย่างสม่ำเสมอ 
  • ๓. ตั้งสติกำหนดอยู่ที่ลมหายใจมากระทบบริเวณจมูกตลอดเวลา 
  • ๔. พยายามระวังตัวอยู่เสมอ อย่าให้นิวรณ์และความคิดต่างๆเกิดขึ้นมา
  • การฝึกจะต้องพยายามฝึกอย่างสม่ำเสมอ จนจิตสงบและนิวรณ์อ่อนลง ก็แสดงว่าจิตเริ่มมีสมาธิมากขึ้น และถ้านิวรณ์ ระงับลงและจิตตั้งมั่งสูงมากจนไม่มีความคิดนึกใดๆอยู่เลย ก็แสดงว่าจิตเริ่มมีสมาธิขั้นสูงแล้ว(เริ่มเกิดฌานระดับต้น) ซึ่งก็ต้องหมั่นฝึกอยู่เสมอๆ จิตก็จะเลื่อนสู่สมาธิขั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ

บทที่ ๗ หน้าที่ชาวพุทธ

บทที่ ๗ หน้าที่ชาวพุทธ

๑. พุทธบริษัท ๔
พุทธบริษัท หมายถึง กลุ่มผู้ที่นับถือพุทศาสนา ซึ่งมีอยู่ ๔ กลุ่มอันได้แก่ 
  • ๑. ภิกษุ พระภิกษุที่เป็นชาย 
  • ๒. ภิกษุณี คือพระภิกษุที่เป็นหญิง(ปัจจุบันนิกายเถรวาทไม่มีแล้ว) 
  • ๓. อุบาสก ชายที่ยังไม่ได้บวช 
  • ๔. อุบาสิกา หญิงที่ยังไม่ได้บวช

๒. คุณสมบัติของชาวพุทธ
ผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธนั้นจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 
  • ๑. มีศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ 
  • ๒. มีศีลบริสุทธิ์(ศีล ๕) 
  • ๓. ไม่เชื่อเรื่องเล่าลือเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือผู้วิเศษต่างๆ 
  • ๔. ไม่แสวงบุญนอกเขตพุทธศาสนา 
  • ๕. บำเพ็ญบุญอยู่แต่ในเขตพุทธศาสนา

๓. หน้าที่ชาวพุทธ
ชาวพุทธจะมีหน้าที่หลักดังนี้ 
  • ๑. ศึกษาหลักธรรม 
  • ๒. ปฏิบัติตามหลักธรรม 
  • ๓. เผยแผ่หลักธรรม 
  • ๔. ปกป้องศาสนา 
  • ๕. สร้างศาสนบุคคลสืบทอดพุทธศาสนา

บทที่ ๖ ประวัติพุทธสาวก

ประวัติพุทธสาวก

๑. พระอานนท์ 
  • พระอานนท์ เป็นโอรสของพระเจ้าสุทโกทนะ ซึ่งเป็นน้องของพระเจ้าสุทโธทนะ พระมารดานามว่า กีสาโคตมี ดังนั้นพระอานนท์จึงมีศักดิ์เป็นพระอนุชา(น้อง)ของเจ้าชายสิทธัตถะ หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวชจนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว และเสด็จกลับมาเยี่ยมกรุงกบิลพัสดุ์ เจ้าชายอานนท์พร้อมด้วยเจ้าชายของศากยวงศ์อีก ๕ องค์ก็ได้ขอบวชกับพระพุทธองค์ ซึ่งหลังจากบวชได้ไม่นานพระอานนท์ก็ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลขึ้นโสดาบัน(ขั้นต้น) พระอานนท์ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปฐาก(ผู้รับใช้ใกล้ชิด)ของพระพุทธเจ้า ซึ่งท่านก็ได้รับใช้พระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิดจนพระพุทธองค์ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน และต่อมาท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ซึ่งจากการที่ท่านอยู่ใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามากที่สุด ดังนั้นท่านจึงเป็นผู้ที่จดจำคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้มากที่สุด อีกทั้งท่านยังเป็นผู้ทูลขอพระพุทธเจ้าให้บวชสตรีเป็นภิกษุณีในพุทธศาสนาอีกด้วย.

๒. พระอุบาลี
  • พระอุบาลีเดิมเป็นบุตรของช่างตัดผมอยู่ในกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อโตขึ้นท่านได้เป็นช่างกัลบก(ช่างตัดผม)ประจำราชสำนักแห่งเจ้าศากยวงศ์ เมื่อเจ้าชายศากยวงศ์ ๖ พระองค์ได้ออกบวช อุบาลีก็ได้ออกบวชด้วย หลังบวชได้ไม่นานท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ และมีความแตกฉานในพระวินัยเป็นอย่างมาก จนท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ(เป็นเลิศกว่าผู้อื่น)ในด้านทรงจำพระวินัย

๓. พระอัญญาโกญฑัญญะ
  • เดิมท่านชื่อ โกณฑัญญะ เกิดในตระกูลพราหมณ์ในกรุงกบิลพัสดุ์ ท่านเป็น ๑ ในปัญจวัคคีย์ที่ออกบวชตามพระพุทธเจ้า หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้วก็ได้เสด็จไปแสดงธรรมสอนปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรก ซึ่งโกญทัญญะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม(เริ่มเกิดความเห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ ) เป็นคนแรก ซึ่งขณะที่พระอัญญาโกญทัญญะเกิดดวงตาเห็นธรรมนั้นพระพุทธองค์ทรงรู้จึงอุทานขึ้นมาว่า “อัญญาโกญทัญโญ” ที่แปลว่า โกญทัญญะรู้แล้วหนอ จึงทำให้ท่านได้ชื่อว่า อัญญาโกญทัญญะ ตั้งแต่นั้นสืบมา และท่านก็ได้ขอบวชเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา เมื่อท่านบวชได้ไม่นานท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์.

๔. พระราหุล
  • ราหุล(แปลว่า บ่วง) เป็นโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะกับพระนางยโสธราหรือพิมพา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาเยือนกรุงกบิลพัสดุ์ พระนางพิมพาก็ได้ให้ราหุลไปทูลขอสมบัติจากพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธองค์ก็ได้ทรงให้พระสารีบุตรบวชราหุลเป็นสามเณรองค์แรกในพุทธศาสนาเมื่ออายุได้ ๗ ขวบ และเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีท่านก็ได้บวชเป็นภิกษุและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในเวลาต่อมา.

๕. พระมหาปชาปดีโคตมีเถรี
  • พระนางมหาปชาปดีโคตมีเป็นพระน้านางของเจ้าชายสิทธัตถะ ต่อมาเมื่อพระนางสิริมหามายาซึ่งเป็นพระมารดาของเจ้าชายสิทธัตถะสวรรคต พระนางจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นอัครมเหสีและเลี้ยงดูเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะออกบวชและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พระนางมหาปชาบดีโคตมีก็ได้ตามไปขอบวชเป็นภิกษุณี ซึ่งก็ต้องรับครุธรรม(ข้อปฏิบัติที่หนัก) ๘ ประการก่อน เช่น ภิกษุณีแม้บวชตั้ง ๑๐๐ ปีก็ต้องไหว้ภิกษุแม้บวชในวันเดียว และไม่พึงว่ากล่าวภิกษุ เป็นต้น และเมื่อบวชแล้วท่านก็ได้เพียรปฏิบัติจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ท่านได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะด้านมีประสบการณ์มาก.

๖. พระเจ้าสุทโธทนะ
  • พระเจ้าสุทโธทนะเป็นโอรสของพระเจ้าสีหนุกับนางกัญจนา มีพระมเหสีนามว่าสิริมหามายา มารดาของเจ้าชายสิทธัตถะ ต่อมาพระนางสิริมหามายาสิ้นพระชนม์ภายหลังเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ ๗ วัน ก็ได้พระนางมหาปชาบดีโคตรมีพระกนิษฐา(น้อง)พระนางสิริมหามายามาดำรงตำแหน่งแทน

  • หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จออกผนวชจนตรัสรู้แล้ว พระเจ้าสุทโธทนะได้สั่งอำมาตย์ไปกราบทูลให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาเยือนมาตภูมิ ซึ่งพระองค์ก็ได้เสด็จนิวัติมาตภูมิ(เยือน) และแสดงธรรมโปรดพระบิดาจนสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลขั้นโสดาบัน ภายหลังเมื่อพระเจ้าสุทโธทนะป่วยหนัก พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาแสดงธรรมโปรดจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์และนิพพานในที่สุด

บทที่ ๕ พุทธประวัติ

บทที่ ๕ พุทธประวัติ

๑. เจ้าชายสิทธัตถะ 
  • พระพุทธเจ้านั้นเดิมคือเจ้าชายสิทธัตถะจากตระกูลโคตมะ (โคดม) เป็นโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ ของประเทศอินเดียสมัยนั้น(ประมาณ ๒,๖๐๐ ปีมาแล้ว) มีพระราชมารดาทรงพระนามว่าพระนางสิริมหา มายา หลังจากประสูติได้ ๗ วันพระราชมารดาก็สวรรคต พระนางประชาปดีโคตมี ซึ่งเป็นพระน้านาง(น้องของแม่) ก็ได้เป็นผู้เลี้ยงดูพระกุมาสิทธัตถะสืบมา(เป็นแม่เลี้ยง).

๒. อภิเษกสมรส
  • เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะโตขึ้นก็ได้ศึกษาศิลปะวิทยาทุกแขนงเท่าทีมีอยู่ในสมัยนั้นจนแตกฉาน พออายุได้ ๑๖ พรรษาก็ได้อภิเษกสมกับพระนางยโสธรา(หรือพิมพา) และมีพระโอรสองค์หนึ่งพระนามว่า ราหุล.

๓. เสด็จออกผนวช
  • หลังจากได้เสพสุขอย่างเต็มที่เท่าที่จะหาได้ในสมัยนั้นแล้ว ก็ทรงเกิดความเบื่อหน่าย เพราะทรงมองเห็นว่าความสุขนั้นไม่ยั่งยืน ไม่ช้าความแก่และความตายก็จะนำความทุกข์อันใหญ่หลวงมาให้.เมื่อพิจารณาได้ดังนั้นจึงทรงละทิ้งทรัพย์สมบัติและความสุขสบายทั้งหลาย แล้ว เสด็จออกผนวชเป็นนักบวชเพื่อแสวงหาความพ้นความทุกข์ อย่างพวกฤๅษีทั้งหลายของสมัยนั้นที่ปฏิบัติกันอยู่ โดยมีปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ซึ่งออกบวชตามไปด้วย ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา.

๔. ทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔
  • เมื่อออกบวชแล้วก็ได้ทรงไปศึกษาวิธีการดับทุกข์โดยการใช้สมาธิสูงๆจากเจ้าลัทธิที่โด่งดังของยุคนั้น แต่ก็ไม่ทรงพอพระทัยเพราะยังดับทุกข์ไม่ได้จริง จากนั้นก็ได้ทรงทดลองทรมานร่างกายอย่างแสนสาหัส ตามความเชื่อของบางลัทธิที่ว่าจะทำให้หมดทุกข์ได้ แต่ก็ยังดับทุกข์ไม่ได้ .ต่อมาทรงละเลิกการทรมานร่างกาย แล้วหันมาค้นคว้าด้วยพระองค์เอง ซึ่งช่วงนี้เองที่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้หลีกหนีไปเพราะคิดว่าพระองค์ทรงละความเพียรเสียแล้ว ซึ่งวิธีการของพระองค์ก็คือการทำจิตให้เป็นสมาธิแล้วใช้ปัญญาพิจารณาหาสาเหตุของความทุกข์ จนกระทั่งพบ แล้วก็ทรงปฏิบัติจนสามารถดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง.การที่พระองค์ทรงค้นพบและปฏิบัติจนดับทุกข์ได้จริงนี้เองที่เรียกว่าการตรัสรู้(ได้รู้สิ่งที่ประเสริฐ) ซึ่งสิ่งที่ทรงตรัสรู้นี้เรียกว่า อริยสัจ ๔ (ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ) ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์(ดับทุกข์) โดยทรงใช้เวลาในการคว้าอยู่ถึง ๖ ปีจึงตรัสรู้.

๕. ทรงประกาศศาสนา
  • หลังจากตรัสรู้แล้วก็ได้เสด็จตามไปสอนปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ จนได้ตรัสรู้ตามและขอบวชเป็นภิกษุเพื่อปฏิบัติตามพระพุทธองค์ และช่วยกันเผยแพร่คำสอนหลักอริยสัจ ๔ นี้ให้แพร่หลายจนมีผู้ศรัทธาและมาขอบวชตามเป็นภิกษุอีกมากมาย และต่อมาก็มีเศรษฐี กษัตริย์ และผู้มีปัญญาของยุคนั้นหันมานับถือพระพุทธองค์อย่างมากมาย จนทำให้ธรรมะของพระองค์เจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่งในยุคนั้น ซึ่งในยุคนั้นจะเรียกคำสอนของพระพุทธองค์ว่า “ธรรมะของพระสมณะโคดม”.

๖. ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน 
  • หลังจากทรงสอนธรรมะแก่มหาชนมาถึง ๔๕ ปี ซึ่งก็ทรงพระชราภาพมากแล้ว พร้อมทั้งยังทรงป่วยเป็นโรคลงพระโลหิต(ถ่ายเป็นเลือด) จึงทรงปลงอายุสังขาร(กำหนดเวลาตาย) และเสด็จดับขันธปรินิพพาน(ตาย) ณ เมืองกุสินารา อันเป็นเมืองเล็กๆแห่งหนึ่งของอินเดียในยุคนั้น ซึ่งทรงมีพระพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา

บทที่ ๔ คุณธรรมประจำใจ


บทที่ ๔ คุณธรรมประจำใจ

๑. การบูชา 
การบูชานั้นมีอยู่ ๒ ประเภท อันได้แก่ 
  • ๑. อามิสบูชา คือบูชาด้วยสิ่งของ เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน ซึ่งเป็นการบูชาที่ผิวเผิน 
  • ๒. ปฏิบัติบูชา คือ การบูชาด้วยการปฏิบัติตามคำสอน ซึ่งเป็นการบูชาที่แท้จริง

๒. บุคคลหาได้ยากในโลก
บุคคลที่จัดว่าหาได้ยากยิ่งในโลกนั้นก็ได้แก่ 
  • ๑. บุพพการี คือผู้ที่ทำอุปการคุณก่อนโดยไม่หวังผลตอบแทน 
  • ๒. กตัญญูกตเวที คือผู้ที่รู้คุณและตอบแทนคุณผู้มีอุปการคุณก่อน
  • สิ่งที่มีคุณต่อเรานั้นมีมากมาย ซึ่งก็ได้แก่ พระพุทธเจ้า, พ่อแม่,ครูอาจารย์, พระมหากษัตริย์, แม้ข้าราชการหรือบุคคลที่ดี, รวมทั้งสัตว์และป่าไม้ ซึ่งจัดเป็นบุพพการีของเราที่เราจะต้องรู้ซึ้งถึงพระคุณของท่านเหล่านั้นและตอบแทนคุณของเขาอย่างเหมาะสม อันได้แก่
    • การตอบแทนคุณของพระพุทธเจ้าที่ทรงนำธรรมะสั่งสอนเราก็คือการปฏิบัติตามหลักธรรมและเผยแพร่คำสอนต่อไป 
    • การตอบแทนคุณของพ่อแม่ที่ช่วยเลี้ยงเรามาก็คือเลี้ยงดูท่านเมื่อท่านแก่เฒ่า เชื่อฟังทาน รับใช้ท่านเป็นต้น 
    • การตอบแทนคุณของครูอาจารย์ที่ช่วยสั่งสอนเราก็คือ เชื่อฟัง, ขยันเรียน, รับใช้ท่าน เป็นต้น 
    • การตอบแทนคุณของพระมหากษัตริย์ที่ช่วยปกป้องชาติให้สงบสุขก็คือเทิดทูลพระองค์ รักสามัคคีกัน 
    • การตอบแทนคุณของข้าราชการหรือบุคคลที่ดีต่อเราก็คือปฏิบัติตามกฎหมาย ช่วยเหลือสังคม 
    • การตอบแทนคุณของสัตว์ป่าและป่าไม้ที่ช่วยให้เรามีปัจจัย ๔ และมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายก็คือ ประหยัด อนุลักษณ์ธรรมชาติ ไม่ทำลายธรรมชาติ

๓. ธรรมที่ช่วยปกป้องรักษา
การปฏิบัติที่จะช่วยให้เราปลอดภัยจากความทุกข์ ความเดือดร้อนทั้งหลายได้ก็ได้แก่ 
  • ๑. สติ คือระลึกได้ หรือยังจำอะไรๆได้อยู่ไม่หลงลืม 
  • ๒. สัมปชัญญะ คือรู้สึกอยู่ว่ากำลังทำอะไรอยู่

๔. ธรรมอันทำให้งดงาม
คุณธรรมที่จะทำให้งดงามจนมีผู้คนชื่นชมนั้นก็ได้แก่ 
  • ๑. ขันติ คือมีความอดกลั้น อดทนต่อสิ่งที่มายั่วยวน 
  • ๒. โสรัจจะ คือมีความสงบเสงี่ยมไม่แสดงอาการไม่ดีออกมา

๕. ธรรมที่ช่วยให้โลกมีสันติภาพ
การที่โลกจะมีสันติภาพได้มวลมนุษย์จะต้องปฏิบัติตามหลักการโดยสรุปดังนี้คือ 
  • ๑. หิริ คือมีความละอายใจต่อการทำบาป 
  • ๒. โอตตัปปะ คือมีความเกรงกลัวต่อผลของบาป

๖. การอยู่ในระเบียบวินัยของโรงเรียน
ผลดีจากการปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆของโรงเรียนก็ได้แก่ 
  • ๑. ตนเองมีความปรกติสุข 
  • ๒. ครูอาจารย์และเพื่อนที่ดีรักใคร่ 
  • ๓. มีความก้าวหน้าในการเรียน และการงานในอนาคต 
  • ๔. มีความมั่นคงในชีวิต

๗. การฝ่าฝืนระเบียบวินัยของโรงเรียน
ผลเสียจากการฝ่าฝืนกฎระเบียบต่างๆของโรงเรียนก็ได้แก่ 
  • ๑. ตนเองไม่มีความปรกติสุข (ถูกทำโทษ) 
  • ๒. ครูอาจารย์และเพื่อนที่ดีรังเกียจ 
  • ๓. ไม่มีความเจริญก้าวหน้าในการเรียนและการงานในอนาคต 
  • ๔. ไม่มีความมั่นคงในชีวิต

๘. ประโยชน์จากความขยัน
  • ๑. เรียนเก่ง ทำงานเก่ง(เก่ง) 
  • ๒. มีความรู้มาก มีทรัพย์มาก(รวย) 
  • ๓. คนดีชื่นชอบ มีเกียรติ(สวย) 
  • ๔. ชีวิตเจริญและมั่นคง(ดี)

๙. โทษจากความเกียจคร้าน
  • ๑ . เรียนแย่ ทำงานแย่(แย่) 
  • ๒. โง่เขลา ยากจน(โง่) 
  • ๓. คนดีรังเกียจ ด้อยเกียรติ(โซ) 
  • ๔. ชีวิตตกต่ำและไม่มันคง(จน)

๑๐. คุณประโยชน์จากความประหยัด
  • ๑. มีทรัพย์มาก(รวย) 
  • ๒. ชีวิตไม่เดือดร้อน 
  • ๓. ชีวิตมีความสุขมาก 
  • ๔. มีความมั่นคงในชีวิต

๑๑. โทษจากความฟุ่มเฟือย
  • ๑. ขาดแคลนทรัพย์(จน) 
  • ๒. ชีวิตเดือดร้อน 
  • ๓. ชีวิตมีความสุขน้อย 
  • ๔. ชีวิตขาดความมั่นคง

บทที่ ๓ พุทธธรรม


บทที่ ๓ พุทธธรรม

๑. ธรรมะ ๒ ระดับ 
        คำว่า ธรรม หรือ ธรรมะ ในที่นี้จะหมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแบ่งออกได้ ๒ ระดับ คือ 
๑. ระดับพื้นฐาน (ศีลธรรม) ซึ่งสอนให้ละเว้นความชั่วและทำแต่ความดี ซึ่งเอาไว้สอนชาวบ้านทั่วไป 
๒. ระดับสูง (ปรมัตถธรรม) ซึ่งสอนให้ทำจิตให้บริสุทธิ์ ซึ่งเอาไว้สอนคนที่มีปัญญา
๒.โอวาท ๓ ประการ
        ธรรมะของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนี้สามารถสรุปเป็นหลักใหญ่ๆได้ ๓ ประการ อันได้แก่ 
๑. สอนให้ละเว้นการทำความชั่วทั้งปวง 
๒. สอนให้ทำความดีให้สมบูรณ์ 
๓. สอนให้ทำจิตให้บริสุทธิ์
๓. จุดหมายของพุทธศาสนา
        จุดหมายของพุทธศาสนาในแต่ละระดับก็คือ 
๑. ระดับพื้นฐานก็คือ เพื่อให้ชีวิตมีความปรกติสุข และเพื่อให้โลกมีสันติภาพ 
๒. ระดับสูงก็คือ เพื่อความพ้นทุกข์ หรือ นิพพาน
๔. อะไรคือความชั่ว
        ความชั่วก็คือ การกระทำที่ผู้คนเกลียดชัง ซึ่งสรุปอยู่ที่การเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนเป็นทุกข์ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม ซึ่งความชั่วที่เห็นได้ชัดก็คือ การละเมิดศีล ๕ และการลุ่มหลงอบายมุข ซึ่งต้นตอของความชั่วก็คือ กิเลส
๕. กิเลสคืออะไร
        กิเลส หมายถึง ความสกปรกของจิตใจ ซึ่งมีอยู่ ๓ อาการได้แก่ 
๑. ความโลภ คืออยากได้ของผู้อื่น 
๒. ความโกรธ คืออยากทำร้ายผู้อื่น 
๓. ความหลง คือหลงผิด ไม่รู้จริง 
        ตามธรรมดาจิตใจของเราจะสะอาด หรือบริสุทธิ์ และมีความปรกติสุข แต่เมื่อเกิดอาการของกิเลสขึ้นมาจิตใจก็จะมืดมัวหรือสกปรก และไม่มีความปรกติสุข คือจะมีความเร่าร้อนทรมานขึ้นมาแทน(เกิดความทุกข์).
๖. ความชั่วจากการไม่มีศีล ๕ 
        ความชั่วของชาวบ้านก็คือการละเมิด ศีล ๕ อันได้แก่ 
๑. การฆ่า หรือทำร้ายสิ่งที่มีชีวิต 
๒. การลักขโมย หรือเบียดเบียนทรัพย์สินของผู้อื่น 
๓. การประพฤติผิดในเรื่องทางเพศ 
๔. การพูดโกหก 
๕. การเสพสิ่งเสพติดหรือมึนเมา 
        ผู้ที่ไม่มีศีลก็จะไม่มีความปรกติสุข สังคมที่ไม่มีศีลก็จะไม่สงบสุข โลกที่ไม่มีศีลก็จะไม่มีสันติภาพ
๗. อบายมุข เหตุแห่งความเสื่อม
        อบายมุข แปลว่า ปากทางที่เริ่มไปสู่ความเสื่อม ซึ่งอบายมุขนี้ก็คือสาเหตุของปัญหาสังคม อันได้แก่ 
๑. เล่นการพนัน 
๒. ดื่มสุราและเสพสิ่งเสพติด 
๓. การเที่ยวกลางคืน 
๔. การเป็นนักเลงอันธพาล 
๕. การคบเพื่อนชั่ว 
๖. ความเกียจคร้าน
๘. อะไรคือความดี
        ความดีก็คือ การกระทำที่ผู้คนชื่นชอบ ซึ่งสรุปอยู่ที่การทำให้ผู้อื่นมีความสุข ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม ซึ่งความดีนี้แยกได้ ๒ ระดับคือ 
๑. ความดีขั้นพื้นฐาน อันได้การปฏิบัติหน้าที่และการงานอย่างถูกต้อง 
๒. ความดีขั้นสูง อันได้แก่การช่วยเหลือผู้อื่นในด้านต่างๆ 
        ต้นตอของความดีก็คือ ปัญญาขั้นต้น (คือความไม่โลภ, ไม่โกรธ, ไม่หลงผิด).
๙. ความดีขั้นสูงคืออะไร
        ความดีขั้นสูงก็คือการช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน หรือช่วยให้เขามีความสุข ซึ่งการช่วยนี้ก็สามารถทำได้ ๓ ลักษณะใหญ่ๆ คือ 
๑. ช่วยด้วยการให้ทรัพย์ หรือสิ่งของ 
๒. ช่วยด้วยการให้ความรู้ หรือวิชาการ 
๓. ช่วยด้วยการให้ธรรมะ หรืออบรมสั่งสอนหลักธรรมะ 
        พระพุทธองค์ทรงสอนว่า การให้ธรรมะชนะการให้ทั้งปวง เพราะธรรมะจะเป็นแสงสว่างของชีวิต ทำให้ผู้รับสามารถดำเนินชีวิตไปอย่างถูกต้อง คือไม่มีความทุกข์ มีแต่ความสงบสุขได้อย่างแท้จริง.
๑๐. บาปคืออะไร
        บาป คือ การทำชั่ว คือเมื่อเราทำความชั่วใดลงไป ก็เรียกว่าทำบาป ผลของบาปก็คือ ความรู้สึกทุกข์ใจ เช่นร้อนใจ(นรก) ไม่สบายใจ เวลาให้ผลของบาปนั้นก็มีอยู่ ๒ ช่วงคือ 
๑. ขณะกำลังทำอยู่ 
๒. หลังจากทำเสร็จแล้วระยะหนึ่
        ผลของบาปนี้จะมากหรือน้อยและจะตั้งอยู่นานหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรานั้นทำบาปมากหรือน้อยเพียงใด หรือบ่อยเพียงใด เปรียบเหมือนกับการที่เรากินอาหารเน่าเสียจำนวนมาก เราก็จะรู้สึกอึดอัดทรมานอยู่นาน แต่ถ้ากินน้อย ก็จะรู้สึกอึดอัดทรมานอยู่ไม่นาน ซึ่งบาปนี้บางทีก็เรียกว่าเป็น “กรรมชั่ว” ที่หมายถึง การกระทำชั่ว.
๑๑. บุญคืออะไร
        บุญ คือ การทำดี คือเมื่อเราทำความดีใดลงไป ก็เรียกว่าทำบุญ ผลของบุญก็คือ ความสุขใจ เช่น อิ่มใจ ( สวรรค์) สบายใจ เวลาให้ผลของบุญนี้ก็มีอยู่ ๒ ช่วงคือ 
๑. ขณะกำลังทำอยู่ 
๒. หลังจากทำเสร็จแล้วระยะหนึ่ง
ผลของบุญนี้จะมากหรือน้อยและจะตั้งอยู่นานหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรานั้นทำบุญมากหรือน้อยเพียงใด หรือบ่อยเพียงใด เปรียบเหมือนกับการที่เรากินอาหารที่มีประโยชน์จำนวนมาก เราก็จะรู้สึกอิ่มสบายอยู่นาน แต่ถ้ากินน้อย ก็จะรู้สึกอิ่มสบายอยู่ไม่นาน ซึ่งบุญนี้บางทีก็เรียกว่าเป็น “กรรมดี” ที่หมายถึง การกระทำดี.
๑๒. นรก-สวรรค์คืออะไร
        คำว่า “นรก” ของพุทธศาสนาจะหมายถึง สภาวะจิตขณะที่กำลังที่เร่าร้อนทรมาน เพราะทำบาปเอาไว้มาก(เช่นขณะที่เรากำลังร้องไห้เพราะเสียใจมาก) คำว่า “สวรรค์” ของพุทธศาสนาจะหมายถึง สภาวะจิตขณะที่กำลังมีความสุขใจ หรืออิ่มเอมใจอย่างยิ่ง เพราะได้ทำความดีเอาไว้มาก( เช่นขณะที่เรากำลังยิ้มร่าเพราะสุขใจมาก). 
        ส่วนนรกที่อยู่ใต้ดิน และสวรรค์ที่อยู่บนฟ้า ที่จะไปถึงได้ต่อเมื่อตายไปแล้วตามที่เราเคยได้ยินมานั้น ไม่ใช่ของพุทธศาสนา แต่เป็นคำสอนของศาสนาพราหมณ์ที่ปะปนเข้าอยู่ในพุทธศาสนามาช้านานแล้ว จนทำให้ชาวพุทธหลงเข้าใจผิดคิดว่านี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเราจะต้องเข้าใจจุดนี้เอาไว้ด้วย.
๑๓. นิพพานคืออะไร
        นิพพาน แปลว่า ความสงบเย็น หรือความเย็นใจ คือเมื่อใดที่จิตของเราเกิดอาการของกิเลสใดๆขึ้นมา จิตของเราก็จะไม่บริสุทธิ์ หรือจะเศร้าหมอง แล้วมันก็จะเกิดความทุกข์ชนิดต่างๆขึ้นมา ซึ่งจะรุนแรงบ้าง ไม่รุนแรงบ้างตามกิเลสที่เกิดขึ้น แต่ขณะใดที่จิตเรามีสมาธิและปัญญา จิตของเราก็จะบริสุทธิ์ จากกิเลส แล้วมันก็จะสงบ เยือกเย็น ปลอดโปร่ง แจ่มใสขึ้นมาทันที ซึ่งนี่คืออาการที่เรียกว่านิพพาน นิพพานนี้ในแต่ละวันเราทุกคนก็พอจะมีกันอยู่บ้าง แต่ไม่มากหรือไม่ถาวร ถ้าใครมีมากหรือถาวรก็จะเป็นพระอริยบุคคล.
๑๔. ธรรมะอยู่ที่จิตใจของเราเอง
        เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ธรรมะของพุทธศาสนาจะอยู่ที่จิตใจของเราเองทั้งสิ้น เพราะพุทธศาสนาจะสอนเรื่องสภาวะของจิตใจ ไม่สอนเรื่องวัตถุภายนอก คือจะสอนว่า 
เมื่อใดเราทำความดี จิตก็จะเป็นสุข 
เมื่อใดที่เราความชั่ว จิตก็จะเป็นทุกข์ 
เมื่อใดที่เราทำจิตให้บริสุทธิ์ จิตของเราก็จะสงบเย็น
        ส่วนเรื่องผลดีหรือผลชั่วทางวัตถุหรือภายนอกนั้นเป็นเรื่องง่ายๆที่ใครๆก็รู้กันอยู่แล้ว (เช่นทำดีแล้วได้รางวัล หรือทำชั่วแล้วถูกลงโทษ เป็นต้น) ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน (เช่นบางทีทำดีแล้วไม่มีใครรู้ก็ไม่ได้รางวัล หรือคนทำชั่วแล้วปกปิดไว้ได้ก็ไม่ถูกลงโทษ เป็นต้น) ดังนั้นพุทธศาสนาจึงไม่สอนเรื่องทางวัตถุภายนอกอย่างนี้ ซึ่งเราควรเข้าใจให้ถูกต้อง มิฉะนั้นอาจจะเกิดความเข้าใจผิดต่อคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าได้.
๑๕. สรุปนรก-สวรรค์-นิพพาน
        คนโบราณได้กล่าวเอาไว้ว่า “สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ” และ “นิพพานคือความเย็นใจ” ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ถูกต้องที่สุด ดังจะสรุปได้ว่า 
ร้อนใจไปนรก 
ดีใจไปสวรรค์ 
เย็นใจไปนิพพาน
        จึงขอให้ทุกคนเข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ถูกต้อง เพื่อที่จะได้รับประโยชน์อย่างสูงสุดจากการเรียนรู้หลักธรรมะของพุทธศาสนา และไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วมาพบพระพุทธศาสนา
๑๖. ตายแล้วไปไหน
        ตามหลักพุทธศาสนาแล้วไม่สอนว่าตายแล้วไปไหน เพราะไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่จะสอนให้คิดว่า เมื่อเทียนดับ แสงสว่างหายไปไหน? คือร่างกายก็เหมือนแท่งเทียน จิตใจก็เหมือนแสว่างที่เกิดจากการเปลวเทียนที่ลุกไหม้ เมื่อเปลวไฟเทียนดับ แสงสว่างก็จะดับหายตามไปด้วย เมื่อจุดไฟใหม่ แสงสว่างก็กลับมามีอีก ซึ่งนี่เป็นการคิดตามหลักวิทยาศาสตร์. จบบทที่ ๓

บทที่ ๒ หลักพื้นฐานพุทธศาสนา


บทที่ ๒ หลักพื้นฐานพุทธศาสนา


๑. พุทธศาสนาคืออะไร
  • พุทธะ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พระพุทธเจ้า แปลว่า ผู้รู้สูงสุด ไม่มีใครเทียบเท่า พุทธศาสนา แปลว่า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า


๒. ใครคือศาสดา
  • พระพุทธเจ้า คือศาสดา(ผู้ก่อตั้ง)ของพุทธศาสนา


๓. กำเนิดที่ใด
  • พุทธศาสนาเกิดขึ้น ณ ประเทศอินเดีย ก่อนศาสนาคริสต์ ๕๔๓ ปี


๔. อะไรคือสิ่งที่มีอำนาจสูงสุด
ศาสนาในโลกนี้แบ่งได้ ๒ ประเภท อันได้แก่ 
  • ๑. เทวนิยม คือประเภทที่ยอมรับนับถือพระเจ้าว่าเป็นสิ่งมีอำนาจสูงสุด เช่นศาสนาคริสต์,อิสลาม 
  • ๒. อเทวนิยม คือประเภทที่ไม่ยอมรับนับถือพระเจ้าว่าเป็นสิ่งที่มีอำนาจสูงสุด เช่น ศาสนาพุทธ พุทธศาสนาจะนับถือธรรมชาติว่าเป็นสิ่งที่มีอำนาจสูงสุด ที่ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นไป ซึ่งเทียบได้กับพระเจ้าของศาสนาคริสต์และอิสลาม


๕. คัมภีร์ชื่ออะไร
  • พระไตรปิฎกคือตำรารวบรวมคำสอน(คัมภีร์)ทั้งหมดของพุทธศาสนาเอาไว้.


๖. หลักคำสอนโดยสรุปมีว่าอย่างไร
หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยสรุปมี ๓ ประการ คือ 
  • ๑. สอนให้ละเว้นความชั่ว 
  • ๒. สอนให้ทำความดี 
  • ๓. สอนให้ทำจิตให้บริสุทธิ์


๗. หลักความเชื่อเป็นอย่างไร
พุทธศาสนามีหลักความเชื่อโดยสรุปดังนี้ 
  • ๑. ไม่เชื่ออะไรงมงายไร้เหตุผล เช่น ไม่เชื่อเรื่องไสยศาสตร์, โหราศาสตร์, เรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์, เรื่องผี-สาง, เรื่องเทวดา-นางฟ้า, เรื่องนรกใต้ดิน- สวรรค์บนฟ้า, ชาติก่อน-ชาติหน้า เป็นต้น. 
  • ๒. เชื่อสิ่งที่ปรากฏแก่ตนเองจริงๆแล้วเท่านั้น คือจะเชื่อสิ่งที่พิสูจน์ได้แล้วเท่านั้น 
  • ๓. ไม่มีการบังคับให้เชื่อ คือจะให้อิสระแก่ผู้ที่นับถืออย่างเต็มที่ หลักความเชื่อนี้เป็นหลักการ ที่ตรงกับหลักการของวิทยาศาสตร์นั่นเอง.


๘. พุทธศาสนามีกี่นิกาย
นิกาย หมายถึง พวก หรือ หมู่ ซึ่งพุทธศาสนาในโลกปัจจุบันแบ่งเป็น ๒ นิกายใหญ่ๆ คือ 
  • ๑. มหายาน ซึ่งมีผู้คนนับถือมากในประเทศจีน, ไต้หวัน, เวียดนาม 
  • ๒. เถรวาท (หินยาน) ซึ่งมีผู้คนนับถือมากในประเทศไทย, ลาว, พม่า นิกายเถรวาทจะยึดถือพระไตรปิฎกดั้งเดิมและเคร่งครัด ส่วนนิกายมหายานจะดัดแปลงคำสอนใหม่และไม่ค่อยเคร่งครัด


๙. ประโยชน์จากการนับถือพุทธศาสนาคืออะไร
ประโยชน์ที่จะได้รับจากการนับถือพุทธศาสนาก็คือ 
  • ๑. มีปัญญา ไม่โง่เขลา 
  • ๒. มีหลักในการดำเนินชีวิต 
  • ๓. มีสุขมากขึ้น มีทุกข์น้อยลง


๑๐. โครงสร้างพุทธศาสนาเป็นอย่างไร
พุทธศาสนาประกอบด้วยโครงสร้างสำคัญ ๓ ประการคือ 
  • ๑. การเรียนรู้หลักคำสอน 
  • ๒. การปฏิบัติตามคำสอน 
  • ๓. การรับผลจากการปฏิบัติ 
การจะถือพุทธศาสนาให้ได้ประโยชน์อย่างแท้จริงนั้น จะต้องมีทั้งการเรียนรู้และปฏิบัติจนบังเกิดผลขึ้นมาจริงๆจึงจะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง.