วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558

บทที่ ๕ พุทธประวัติ

บทที่ ๕ พุทธประวัติ

๑. เจ้าชายสิทธัตถะ 
  • พระพุทธเจ้านั้นเดิมคือเจ้าชายสิทธัตถะจากตระกูลโคตมะ (โคดม) เป็นโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ ของประเทศอินเดียสมัยนั้น(ประมาณ ๒,๖๐๐ ปีมาแล้ว) มีพระราชมารดาทรงพระนามว่าพระนางสิริมหา มายา หลังจากประสูติได้ ๗ วันพระราชมารดาก็สวรรคต พระนางประชาปดีโคตมี ซึ่งเป็นพระน้านาง(น้องของแม่) ก็ได้เป็นผู้เลี้ยงดูพระกุมาสิทธัตถะสืบมา(เป็นแม่เลี้ยง).

๒. อภิเษกสมรส
  • เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะโตขึ้นก็ได้ศึกษาศิลปะวิทยาทุกแขนงเท่าทีมีอยู่ในสมัยนั้นจนแตกฉาน พออายุได้ ๑๖ พรรษาก็ได้อภิเษกสมกับพระนางยโสธรา(หรือพิมพา) และมีพระโอรสองค์หนึ่งพระนามว่า ราหุล.

๓. เสด็จออกผนวช
  • หลังจากได้เสพสุขอย่างเต็มที่เท่าที่จะหาได้ในสมัยนั้นแล้ว ก็ทรงเกิดความเบื่อหน่าย เพราะทรงมองเห็นว่าความสุขนั้นไม่ยั่งยืน ไม่ช้าความแก่และความตายก็จะนำความทุกข์อันใหญ่หลวงมาให้.เมื่อพิจารณาได้ดังนั้นจึงทรงละทิ้งทรัพย์สมบัติและความสุขสบายทั้งหลาย แล้ว เสด็จออกผนวชเป็นนักบวชเพื่อแสวงหาความพ้นความทุกข์ อย่างพวกฤๅษีทั้งหลายของสมัยนั้นที่ปฏิบัติกันอยู่ โดยมีปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ซึ่งออกบวชตามไปด้วย ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา.

๔. ทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔
  • เมื่อออกบวชแล้วก็ได้ทรงไปศึกษาวิธีการดับทุกข์โดยการใช้สมาธิสูงๆจากเจ้าลัทธิที่โด่งดังของยุคนั้น แต่ก็ไม่ทรงพอพระทัยเพราะยังดับทุกข์ไม่ได้จริง จากนั้นก็ได้ทรงทดลองทรมานร่างกายอย่างแสนสาหัส ตามความเชื่อของบางลัทธิที่ว่าจะทำให้หมดทุกข์ได้ แต่ก็ยังดับทุกข์ไม่ได้ .ต่อมาทรงละเลิกการทรมานร่างกาย แล้วหันมาค้นคว้าด้วยพระองค์เอง ซึ่งช่วงนี้เองที่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้หลีกหนีไปเพราะคิดว่าพระองค์ทรงละความเพียรเสียแล้ว ซึ่งวิธีการของพระองค์ก็คือการทำจิตให้เป็นสมาธิแล้วใช้ปัญญาพิจารณาหาสาเหตุของความทุกข์ จนกระทั่งพบ แล้วก็ทรงปฏิบัติจนสามารถดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง.การที่พระองค์ทรงค้นพบและปฏิบัติจนดับทุกข์ได้จริงนี้เองที่เรียกว่าการตรัสรู้(ได้รู้สิ่งที่ประเสริฐ) ซึ่งสิ่งที่ทรงตรัสรู้นี้เรียกว่า อริยสัจ ๔ (ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ) ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์(ดับทุกข์) โดยทรงใช้เวลาในการคว้าอยู่ถึง ๖ ปีจึงตรัสรู้.

๕. ทรงประกาศศาสนา
  • หลังจากตรัสรู้แล้วก็ได้เสด็จตามไปสอนปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ จนได้ตรัสรู้ตามและขอบวชเป็นภิกษุเพื่อปฏิบัติตามพระพุทธองค์ และช่วยกันเผยแพร่คำสอนหลักอริยสัจ ๔ นี้ให้แพร่หลายจนมีผู้ศรัทธาและมาขอบวชตามเป็นภิกษุอีกมากมาย และต่อมาก็มีเศรษฐี กษัตริย์ และผู้มีปัญญาของยุคนั้นหันมานับถือพระพุทธองค์อย่างมากมาย จนทำให้ธรรมะของพระองค์เจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่งในยุคนั้น ซึ่งในยุคนั้นจะเรียกคำสอนของพระพุทธองค์ว่า “ธรรมะของพระสมณะโคดม”.

๖. ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน 
  • หลังจากทรงสอนธรรมะแก่มหาชนมาถึง ๔๕ ปี ซึ่งก็ทรงพระชราภาพมากแล้ว พร้อมทั้งยังทรงป่วยเป็นโรคลงพระโลหิต(ถ่ายเป็นเลือด) จึงทรงปลงอายุสังขาร(กำหนดเวลาตาย) และเสด็จดับขันธปรินิพพาน(ตาย) ณ เมืองกุสินารา อันเป็นเมืองเล็กๆแห่งหนึ่งของอินเดียในยุคนั้น ซึ่งทรงมีพระพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น